เช็กสถานะ 3 แหล่งเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน ฝ่าด่าน 2 เส้นทาง ‘สภา–กฤษฎีกา’  

เช็กสถานะ 3 แหล่งเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน ฝ่าด่าน 2 เส้นทาง ‘สภา–กฤษฎีกา’  

ลุ้น 3 แหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ตงบฯเพิ่มเติมปี 67 - งบฯ68 ไปสภาฯ ส่วนวงเงิน ธ.ก.ส.คลังรอส่งกฤษฎีกาตีความโครงการที่จะเสนอ ครม. คลังยันเปิดให้ลงทะเบียนไตรมาส 3 ปีนี้ก่อนเริ่มโครงการได้จริงไตรมาส 4

KEY

POINTS

  • โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เติมเงิน 10,000 บาท เตรียมเปิดให้ลงทะเบียนไตรมาส 3 นี้ เริ่มใช้ไตรมาส 4 กำหนดแหล่งเงิน 3 แหล่ง 5 แสนล้านบาท
  • แหล่งเงิน 3 แหล่งประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ขยายกรอบวงเงิน งบประมาณปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท ขอใช้วงเงิน ธ.ก.ส. 172,300 ล้านบาท
  • ในส่วนงบฯเพิ่มเติมปี 67 และงบฯ68 เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ส่วนงบฯที่ใช้เงิน ธ.ก.ส.ต้องเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้พิจารณา
  • หากผ่านด่านสภาฯ-กฤษฎีกา เงิน 5 แสนล้านบาท จึงจะพร้อมใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา 2501 

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาล มีการกำหนดไทม์ไลน์ที่แน่นอนจากทางรัฐบาลแล้วว่าจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และเริ่มคิกออฟโครงการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

 

คลังเร่งเตรียมระบบรับดิจิทัลวอลเล็ต

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่าในเรื่องของการเตรียมความพร้อมของระบบนั้นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตมีการประชุมกันทุกสัปดาห์ใช้เวลาในการประชุม  3 – 4 ชั่วโมงต่อครั้งเพราะมีรายละเอียดในทางปฏิบัติให้หารือกันมาก ซึ่งมั่นใจว่าระบบและแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ที่พัฒนาโดยสำนักงานคณะกรรมการรัฐบาลอิเล็กทรอกสิกส์ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกันจะสามารถขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

อย่างไรก็ตามนอกจากความพร้อมของระบบ ส่วนที่สำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตฯคือแหล่งเงินที่รัฐบาลจะใช้ในโครงการนี้ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งในเงื่อนไขของโครงการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุว่าเพื่อไม่ให้เป็นการขัด พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501  โครงการขนาดดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านนี้ รัฐบาลจะต้องมีเงินมารองรับการออกดิจิทัลวอลเล็ตเต็มจำนวน และดิจิทัลวอลเล็ตที่ออกมาจะเป็น stablecoin เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบการเงินของประเทศ

 

เช็กสถานะ 3 แหล่งเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน ฝ่าด่าน 2 เส้นทาง ‘สภา–กฤษฎีกา’  

งบฯปี 67 ใช้งบกลางฯกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดแผนการจัดหาแหล่งเงินไว้ 3 แหล่งเงินด้วยเพื่อมาทำโครงการ 3 แหล่งเงินได้แก่

1.การออกพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้รัฐบาลต้องใช้การบริหารงบประมาณจากงบกลางฯเพิ่มเติมเพราะเดิมวงเงินที่จะใช้จากงบฯปี 2567 นั้นกำหนดไว้ 175,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้งบกลางฯปี 67 อีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท

2.ขยายกรอบวงเงิน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

และ 3.ขอใช้วงเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท ตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ  โดยให้ ธ.ก.ส. ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ

เช็กสถานะความพร้อม 3 แหล่งเงิน

“กรุงเทพธุรกิจ”ตรวจสอบสถานะแหล่งเงินสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตปัจจุบันพบว่ายังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้การใช้เงินนั้นมีความถูกต้องตามกฎหมาย โดยมี 2 ส่วนที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา คือ

  • พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ.2567
  • พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568

ทั้งนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ.2567 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1      

31 ก.ค. – 1 ส.ค.67สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 2 – 3

6 ส.ค.67 วุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระที่ 2-3

และ 13 ส.ค.2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

ผูกพันงบฯกลางปี 67 ใช้ต่อปีงบฯ68 

ทั้งนี้รมช.คลังระบุว่าการใช้จ่ายวงเงินในส่วนของพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ.2567 นั้นจะให้ประชาชนลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 เพื่อให้ขอผูกพันงบประมาณไปใช้ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเป็นไปตามวิธีการทางงบประมาณที่สามารถทำได้

ในส่วนของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ได้กำหนดรายจ่ายเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ในรายการงบกลางฯรายการที่ 12 เรื่อง “ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ” วงเงิน 152,700 ล้านบาท โดย ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68 ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เรียบร้อยแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาฯวาระที่ 1 ในวันที่  19 - 20 มิ.ย.2567 ล่าช้าจากกำหนดการเดิมที่กำหนดไว้วันที่ ว่าจะเข้าสภาฯวันที่ 5-6 มิ.ย.2567 โดยพ.ร.บ.งบประมาณฯ  2568 จะประกาศใช้ก่อนวันที่ 1 ต.ค.2567

คลังยังไม่ส่งกฤษฎีกาตีความใช้เงิน ธ.ก.ส.

ส่วนแหล่งเงินสุดท้ายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือการขอใช้เงินจาก ธ.ก.ส.วงเงิน 172,300 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในข้อกฎหมายว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่ได้มีการยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแต่อย่างใด

โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลังเปิดเผยว่าปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายในการขอใช้เงินมาตรา 28 จากธ.ก.ส.มาดำเนินการดิจิทัลวอลเล็ต โดยต้องรอให้ ธ.ก.ส.จัดทำโครงการเสนอมายังกระทรวงการคลังเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อนในขั้นตอนนั้นจึงจะขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

เท่ากับว่าสถานะของแหล่งเงิน 5 แสนล้าน ที่มีที่มาจาก 3 แหล่งเงิน ที่รัฐบาลวางแผนไว้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯทั้งสองฉบับกำลังจะส่งไปพิจารณาในสภาฯซึ่งจะมีการอภิปราย และลงคะแนนเสียง

ขณะที่วงเงินอีกส่วนที่มาจาก ธ.ก.ส.ก็ต้องผ่านการพิจารณาและตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเช่นกัน ซึ่งต้องจับตาดูว่าแหล่งเงินทั้ง 3 แหล่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลวอลเล็ตนั้นจะฝ่าทั้งด่านสภาฯและคณะกรรมการกฤษฎีกาไปได้โดยตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะหากมีอุปสรรครออยู่ก็จะทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตสะดุดได้เช่นกัน