ธรรมนัส จ่อ ถกเกณฑ์นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เอาคืนกลุ่มกักตุน
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ลุยกระทรวงเกษตรฯแก้ปัญหากักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำราคาในตลาดสูงแตะ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม ด้าน ธรรมนัส สั่งตรวจสอบ Stockทั่วประเทศ นำข้อมูลจริงพิจารณาเกณท์นำเข้า เล็งขยาย พื้นที่การปลูก เป้าหมาย 1 ล้านไร่ หวังเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ว่าได้หารือถึงสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย ปี 2567/68 ซึ่ง ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของการผลิตอาหารสัตว์ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 5 ล้านตัน (พื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6.7 ล้านไร่) ในขณะที่ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์มีถึง 8.9 ล้านตัน ที่เหลือจึงต้องนำเข้าอีก 3.9 ล้านตัน
อย่างไรก็ตามทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยแจ้งว่าปัจจุบันพบมีการกักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทำให้ราคาในตลาดปรับตัวสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 12-13 บาท สูงกว่าราคาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตกลงกันไว้ให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อในราคาประกันรายได้ ที่กิโลกรัมละ 9 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์สูงขึ้น
ดังนั้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบ Stock ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศเพื่อนำข้อมูลประกอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงขอความร่วมมือสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่สามารถตรวจสอบที่มาของการผลิตได้
รวมทั้งได้ขอความร่วมมือให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยประกันรายได้เกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคากิโลกรัมละ 9 บาท อีกทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อบูรณาการการทำงานในการเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และขยายพื้นที่การปลูก ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูก 1 ล้านไร่
นางยุพิณ หลิ่มเกื้อ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ขณะนี้การหาข้าวโพดมาผสมอาหารสุกรได้ยาก และแม้จะหาได้ก็มีราคาแพงมาก จนทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ซึ่งผู้เลี้ยงสุกรต่างเผชิญปัญหาเดียวกันนี้โดยถ้วนหน้า ไม่เข้าใจข้าวโพดหายไปไหน จึงอยากให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาด่วน
“ลำพังการเลี้ยงหมูก็ลำบากมากอยู่แล้ว เจอทั้งหมูเถื่อน และราคาขายที่ยังไม่ถึงต้นทุน ต้นทุน กิโลกรัมละ 80-82 บาท ขายได้แค่ 68-72 บาทก็ว่าแย่แล้ว ยังต้องมาเจอค่าข้าวโพดทำต้นทุนสูงขึ้นอีก ทั้งยังหายาก ไม่รู้ข้าวโพดหายไปไหนหมดตลาด ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คงต้องเลี้ยงรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนพักเล้ายาว” นางยุพิณกล่าว
ทั้งนี้ ราคาข้าวโพดปัจจุบันอยู่ที่ กิโลกรัมละ 12 บาท สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน จากเดือนที่แล้วที่ราคา กิโลกรัมละ 10.30 บาท เพิ่มขึ้นถึง 1.70 บาท นับเป็นต้นทุนสำคัญในการเลี้ยงหมู เนื่องจากสัดส่วนการใช้ข้าวโพดในการผสมอาหารสัตว์นั้นเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดราว 30-40% การที่ข้าวโพดขาดตลาดและมีราคาแพงจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลี้ยงสัตว์
“นี่ขนาดมาตรการให้ซื้อเฉพาะข้าวโพดที่ไม่ผ่านการเผาตอ ยังไม่ถูกบังคับใช้ ยังหาข้าวโพดยากขนาดนี้ เมื่อไหร่มีผลขึ้นมา จะตามหาข้าวโพดมาตรฐาน หรือจะหาวัตถุดิบอื่นทดแทนกันให้พอใช้ได้อย่างไร” นางยุพิณกล่าวทิ้งท้าย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้รับข้อร้องเรียนอย่างหนักจากสมาชิก ถึงความยากลำบากในการหาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการกักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเรียกร้องราคาขยับสูงขึ้น โดยมีเป้าสูงกว่า 13 บาทต่อกิโลกรัม จากปกติควรจะอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงนี้ ซ้ำขู่ไม่ส่งข้าวโพดเข้าโรงงาน ระบุโรงงานอาหารสัตว์ไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากถูกมัดมือมัดเท้าจากมาตรการรัฐหลายมาตรการ จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือด่วนที่สุดไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
“การกักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกิดผลประโยชน์กับกลุ่มพ่อค้าคนกลางเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม้แต่บาทเดียว เพราะผลผลิตข้าวโพดทั้งหมดอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางหมดแล้ว ราคาข้าวโพดที่ขยับขึ้นแค่กิโลกรัมละ 1 บาท คิดเป็นเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาระต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สถานการณ์เช่นนี้ดูเหมือนจะกลับไปใกล้เคียงกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาหรืออาจเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะธุรกิจอาหารสัตว์ขาดทุนสะสมและมีการปิดโรงงานและขายกิจการไปแล้วหลายแห่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ก็ขาดทุนและเลิกเลี้ยงกันไปจนนับไม่ถ้วน” นายพรศิลป์กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าคนกลางสามารถมีพฤติกรรมกักตุนข้าวโพดเพื่อเก็งกำไรได้มีหลายประการ อาทิ
1.) ผลผลิตข้าวโพดไทยมีแนวโน้มลดลง และจะออกสู่ตลาดอีกครั้งกลางเดือนกันยายน ช่วงนี้จึงเข้าสู่ภาวะขาดแคลนวัตถุดิบยาวนานกว่า 3 เดือน เปิดโอกาสให้มีการกักตุนสินค้า
2.) โรงงานอาหารสัตว์ไม่มีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน เพราะถูกบีบด้วย “มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน” ด้วยข้อกำหนดให้ซื้อข้าวโพดภายในประเทศก่อน เพื่อนำไปใช้แลกนำเข้าข้าวสาลี แต่โรงงานไม่มีข้าวโพดเพียงพอ จึงเท่ากับถูกบังคับให้ซื้อข้าวโพดจากพ่อค้าในราคาที่เขาต้องการก่อน เป็นสาเหตุหลักให้พ่อค้าชะลอการส่งข้าวโพดเข้าโรงงานเพื่อดึงราคาให้สูงขึ้นอีก
3.) ราคาวัตถุดิบทดแทนปรับตัวสูงขึ้น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ค่าระวางเรือ ค่าเงินบาทที่อ่อนตัว รวมถึงสถานการณ์เพาะปลูกข้าวสาลีที่มีแนวโน้มลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีนำเข้าอยู่ที่ 12 บาท/กก. พ่อค้าคนกลางทราบถึงสถานการณ์นี้เป็นอย่างดี จึงตั้งราคาขายข้าวโพดไว้ที่ 13 บาท/กก. สูงกว่าราคานำเข้าข้าวสาลี เพราะหากไม่ซื้อข้าวโพดก่อนก็ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้
4.) จากนโยบายรัฐที่มุ่งแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยกระทรวงเกษตรฯ ผลักดันการหยุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงปลูก ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยขานรับและสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ทำให้พ่อค้าเร่งทำการกักตุนข้าวโพด เพราะรู้ดีว่าข้าวโพดที่โรงงานจะรับซื้อได้นั้น จะมีปริมาณลดน้อยลง เพราะไม่สามารถซื้อข้าวโพดที่ผ่านการเผาแปลงได้
การแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือ กระทรวงพาณิชย์ต้องปลดล็อกมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วนในทันที เพื่อให้มีปริมาณข้าวสาลีเข้ามาเป็นทางเลือก คลายความกดดันในด้านปริมาณที่ขาด และลดสิ่งที่เอื้อให้พ่อค้าคนกลางทำการกักตุนเก็งกำไร แม้ราคาข้าวสาลี ณ ตอนนี้จะสูงถึง 12 บาทต่อกก. ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเข้า มิฉะนั้นจะไม่มีวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต ย้ำว่ากระทรวงพาณิชย์ ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ “ทันที” เพื่อไม่ให้สายพานการผลิตหยุดชะงัก นอกจากนี้ ต้องพิจารณาปลดมาตรการนำเข้าอื่นๆ โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO เพื่อรองรับนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงปลูก ซึ่งจะทำให้ข้าวโพดที่ซื้อขายในระบบหายไปกว่า 2 ล้านตันด้วย
“หากยังปล่อยให้สถานการณ์กักตุนนี้ยืดเยื้อต่อไป จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่ขาดทุนมาก่อนหน้า จากต้นทุนสูง และจากปัญหาหมูเถื่อน ที่สุดแล้วเศรษฐกิจชาติจะพังไม่เป็นท่า ไม่คุ้มเลยถ้าจะมัวอุ้มกลุ่มพ่อค้าคนกลางกลุ่มเดียวแบบนี้” นายพรศิลป์กล่าว