กลยุทธ์ที่น่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยต่อสู้กับความเสี่ยงในตลาดโลกได้ดีขึ้น

กลยุทธ์ที่น่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยต่อสู้กับความเสี่ยงในตลาดโลกได้ดีขึ้น

หลังจากที่สภาพัฒน์ (NESDC) ได้แสดงสถิติทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ศกนี้ว่า สภาวะเศรษฐกิจมวลรวมขยายตัวเพียง 1.5% ต่อปี (ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน) และลดประมาณการของทั้งปี 2567 นี้ว่าจะเหลือเพียง 2.5%

แทบทุกฝ่ายก็กังวลกันเป็นอันมากว่า เศรษฐกิจไทยจะประสบกับสภาพซบเซาเช่นนี้ต่อไปอีกนานเท่าใด  เพราะความอ่อนแรงนี้มาจากทั้งการอุปโภคบริโภค  การลงทุน  การผลิตภายในประเทศ และการส่งออกสู่ต่างประเทศ  นอกจากนั้นไทยยังต้องต่อสู้กับความผันผวนและผลจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในตลาดโลกด้วย 

ตัวอย่างเช่น  อัตราดอกเบี้ยของตลาดเงินทุนอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน  สงครามระหว่างประเทศ (รัสเซียและยูเครน  อิสราเอลและปาเลสไตน์) ที่ยืดเยื้อ  ความแพร่หลายของ AI  ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และ สงครามทางการค้า 

ปัจจัยเหล่านี้ส่ง     ผลลบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจไทยจนประเทศได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจในหลายรูปแบบ เช่น หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นถึงระดับ 91.3%  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง  ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อทุกประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 

จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเอกชน  ส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัวและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น

หลายฝ่ายจึงได้พยายามวางแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ด้วยหลายช่องทาง  เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ  และออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแจกเงิน  10,000  บาท ต่อคน อย่างไรก็ตาม  ความพยายามเหล่านี้มักจะมีผลแต่เพียงแก้ไขปัญหาระยะสั้น 

สิ่งที่บทความนี้เสนอคือ  สองช่องทางที่จะช่วยต่อสู้กับปัญหาได้สำเร็จอย่างยั่งยืน  ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ลดลง  และประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

  1. การกระจายตัว (Diversification)  ของทั้งผลผลิตและตลาด / ลูกค้า 
  2. การประสานงาน (Coordination)  ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และ / หรือ เอกชน

การกระจายตัวที่กล่าวข้างต้นนั้น  ส่งผลดีในแง่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้แก่รายได้ของผู้ผลิต  การกระจายตัวนี้ทำได้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม  แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายและชัดมากคือ    ภาคเกษตรกรรม 

ชาวสวนยางพาราต้องต่อสู้กับราคาที่ผันผวนเป็นอันมากในตลาดโลก (เช่น จาก 29 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2545  เพิ่มขึ้นเป็น 128  บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2554  และลดลงเหลือ  62  บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2557) 

ทุกครั้งที่ราคายางพาราตกต่ำ  ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด  คือ  เกษตรกรชาวสวนยาง  โดยเฉพาะชาวสวนยางรายเล็ก ซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ  อย่างไรก็ตาม  มีทางออกทางหนึ่งที่เกษตรกรภาคใต้ได้เคลื่อนไหวให้มีการปลูก  “พืชร่วมยาง”  มาเกือบ 40  ปี  แล้ว  แต่ก็มีมาเป็นระยะ ๆ ขาดความต่อเนื่อง 

ในระยะหลังการทำสวนยางแบบ “ผสมผสาน” ได้รับความสนใจกว่าการทำสวนยาง “เชิงเดี่ยว” เป็นอันมาก  เพราะการทำการเกษตรแบบ “ผสมผสาน” นั้น  ให้พืชผลและรายได้เฉลี่ยที่ทั้งสูงและยั่งยืนกว่า  ตัวอย่างของพืชที่ปลูกคู่ขนานไปกับยางพาราได้แก่  ไผ่  ผักกาด  ผักบุ้งจีน  ผักกวางตุ้ง  ตะไคร้  พริกขี้หนู  โหระพา  และผักชีฝรั่ง 

เนื่องจากพืชผักสวนครัวนี้ก่อผลผลิตได้เกือบทุกวัน  และมีตลาดรองรับอยู่เสมอ  จึงสามารถช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวสวนพืช “ผสมผสาน” ได้มากและสม่ำเสมอกว่าสวนพืชเดี่ยว  การทำการเกษตรแบบ “ผสมผสาน” นี้

นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงทางด้านราคาแล้ว  ยังช่วยเพิ่มทักษะในการทำการเกษตรอีกด้วย  ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันหนึ่งที่แรงงานต้องมีก่อนที่ประเทศจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

อนึ่ง  การกระจายตัวของผลผลิตการเกษตรที่กล่าวข้างต้น  มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงยางพาราในภาคใต้เท่านั้น  การแปลงนาข้าวเป็นสวนกล้วยหอมทอง  มะละกอ  ผักหวานบ้าน  และหอยเชอรี่  ก็ได้รับความสนใจและทำรายได้ดีมากในภาคอีสาน

  เกษตรกรที่เข้าร่วมมือทำการกระจายผลผลิตเหล่านี้ได้ทักษะจากการศึกษาข้อมูลเองจากแหล่ง  internet / youtube  และติดต่อสื่อสารกับตลาด  โดยมักมีข้อคิดหลักก่อนลงมือทำว่า  “หาตลาด  ก่อนลงมือผลิต”

การประสานงาน (Coordination)  หมายถึง การวางแผน  จัดการ  และดำเนินธุรกิจการผลิตและส่งขายสินค้าและบริการของภาครัฐและเอกชน (ทั้งที่เกี่ยวโยง และ / หรือ เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน)  ให้อยู่ในขั้นตอน  เวลา  ปริมาณ  และคุณภาพที่เหมาะสมแก่เศรษฐกิจส่วนรวม 

ในเมื่อเป้าหมายของการประสานงานเป็นเช่นนั้น  ก็สมควรที่จะมีหน่วยงานเพียงหน่วยเดียว (Coordinator)  มาช่วยทำหน้าที่ในการประสานงานภายในธุรกรรมแต่ละประเภท และ Coordinator ของธุรกิจแต่ละประเภทก็มาประสานงานกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความยุ่งยากและสับสนที่แต่ละหน่วยงานธุรกิจต้องประสบปัญหาอยู่ดังเช่นปัจจุบัน 

ตัวอย่างเช่น  ภายในธุรกิจคมนาคมขนส่ง  สมาชิกบางกลุ่มอาจมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งซึ่งกันและกันในบางแง่มุม  หลังจากการปรึกษาหารือกับ  Coordinator  ของกลุ่มนี้แล้ว ก็อาจจะได้ข้อเสนอที่นำไปใช้แก้ไขปัญหาส่วนรวมแก่ธุรกิจคมนาคมขนส่งได้  เพราะ Coordinator  ของธุรกิจคมนาคมขนส่งก็จะไปหารือและทำข้อตกลงกับ Coordinators  ของกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม  หากจะให้  Coordinator  สามารถให้ข้อเสนอแนะเหล่านั้นได้  Coordinator  ในแต่ละสายงานธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมในหลายแง่มุม  ตัวอย่างเช่น 

(1)  วางตารางเวลาให้ถูกต้องและเหมาะสมกับฤดูกาลและความเร่งด่วนของปัญหาและ / หรือ สถานการณ์ 

(2)  ติดตามสภาวะของเศรษฐกิจโลก  รวมถึงนวัตกรรมรุ่นใหม่ 

(3)  ประมาณการความต้องการและผลผลิตในตลาดโลกว่ามีโอกาสเท่าใดที่จะเปลี่ยนแปลงใปในทิศทางใดและรวดเร็วเพียงไร  เพราะประมาณการเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ภาคเอกชนในการวางแผนการผลิตและปรับตัวล่วงหน้า

(4)  ประเมินสถานภาพของอุตสาหกรรม / เกษตรกรรม / บริการชองไทยว่ากำลังประสบปัญหาใดอยู่บ้าง 

(5)  ช่วยคิดค้นและแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอกชนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs)

(6)  ให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่องทางการหาเงินทุนและเครื่องจักรกลมาสนับสนุนการลงทุนและ     การผลิต 

(7)  ไม่มองข้ามความเป็นไปได้ของการร่วมมือดำเนินธุรกิจของหลายประเภทเข้าด้วยกัน (Cooperation)  เพราะการร่วมมือเช่นนั้นสามารถช่วยลดต้นทุนบางอย่างลงได้  ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากแก่ประเทศขนาดเล็ก ดังเช่น ไทย  ที่มีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างจำกัด

อนึ่ง  ในการปฏิบัติหน้าที่ของ Coordinator นี้  ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเพิ่มคุณภาพให้แก่แรงงาน  เพราะในยุคเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เช่น AI  หลายรูปแบบนี้  ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักเลือกจ้างเฉพาะแรงงานที่มีทักษะสูง 

ดังนั้น ในระหว่างที่ Coordinator ปฏิบัติงานหาช่องทางแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนเป็นจำนวนมาก  ซึ่งอาจรวมถึงกลยุทธ์ที่เกี่ยวโยงกับการควบรวม (M & A)  เชื่อมโยง (Affiliation & Connection) และสลับสับเปลี่ยนรูปแบบหรือผลผลิตของอุตสาหกรรม  Coordinator ควรคำนึงถึงผลดีและผลเสียแก่ทักษะของแรงงานที่เกี่ยวข้องด้วย.