แบงก์ชาติ – สภาพัฒน์ เตือนรัฐบาล ตั้งงบกลางปี 67 แจกเงินดิจิทัล ดันหนี้พุ่ง!

แบงก์ชาติ – สภาพัฒน์ เตือนรัฐบาล  ตั้งงบกลางปี 67 แจกเงินดิจิทัล ดันหนี้พุ่ง!

‘แบงก์ชาติ’ – ‘สภาพัฒน์’ เตือนรัฐบาลตั้งงบประมาณกลางปี 2567 แจกเงินดิจิทัล  1.22 แสนล้านบาท เสี่ยงฉุดความเชื่อมั่นวูบ เหตุภาระการชำระหนี้ภาครัฐพุ่ง โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นข้างหน้า

การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมปี 2567 (งบกลางปี 2567)วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ได้ผ่านความเห็นชอบกรอบงบประมาณจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ พ.ร.บ.งบกลางปี 2567 เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และเสนอให้สภาฯ พิจารณาเห็นชอบในช่วงเดือนก.ค. ปีนี้

การจัดทำงบกลางปี 2567 นั้น ทำให้การกู้ขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 1.12 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งเป้าจัดเก็บรายได้จากงบประมาณส่วนนี้ไว้เพียง 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม ทำให้การขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 815,056 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่เพิ่มเติมมาตรา 21 กำหนดว่าให้การตั้งงบประมาณรายจ่ายขาดดุลจะต้องอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และต้องไม่เกิน 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น ทั้งนี้ภายหลังจากที่รัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มเติมมาทำงบกลางปี 2567 อีก 1.12 แสนล้านบาท จะทำให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2567 นั้นขึ้นไปอยู่ในระดับ 805,000 ล้านบาท และมีกรอบให้รัฐบาลกู้เงินคงเหลืออยู่เพียง 10,056 ล้านบาท เท่านั้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าในเรื่องการจัดทำงบกลางปี 2567 เพิ่มเติมนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดทำความเห็นเสนอเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.

สำหรับสาระสำคัญของความเห็นที่เสนอมานั้น ในส่วนของ ธปท. ได้ทำหนังสือเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. โดยนางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ซึ่งเสนอความเห็นแทนผู้ว่าการ ธปท. มีเนื้อหาว่า ธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่สำนักงบประมาณเสนอ

โดยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะต้องเป็นไปตามมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงิน ระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ รวมถึงต้อง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงิน การคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง จึงควรพิจารณาจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะหนี้สาธารณะ และภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐ และเอกชน

อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูป และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงดำเนินนโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้รัฐบาลเท่าที่จำเป็น

ขณะที่ สศช. มีข้อสังเกตว่า วงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ส่งผลให้ ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และพื้นที่ทางการคลังลดลงในช่วง ปีงบประมาณ 2567-2568 อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรเร่งเบิกจ่ายให้เม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และ ปีงบประมาณ 2568 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลังในช่วงถัดไป โดยการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดเป้าหมาย และแนวทางที่ชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ และดอกเบี้ย

ทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาล และหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อยั่งยืนนาน และลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง

ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ไม่ขัดข้องหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ตามที่เห็นสมควร

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์