เกษตรฯ เจรจาร้านขายปุ๋ยร่วมโครงการคนละครึ่ง จี้ซื้อบี100 ตามราคาประกาศ

เกษตรฯ เจรจาร้านขายปุ๋ยร่วมโครงการคนละครึ่ง  จี้ซื้อบี100 ตามราคาประกาศ

กระทรวงเกษตรฯ ประสานพลังงาน ถก บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ ซื้อไบโอดีเซลหรือบี100 ตามราคาประกาศ ร่วมเจรจาร้านค้าขายปุ๋ยเคมีกำหนดราคากลางเท่ากันทั่วประเทศ ตามโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  เพื่อช่วยเหลือชาวสวนปาล์มจากปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำ โดยในระยะสั้น กระทรวงพลังงานจะขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรการ 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ได้แก่ บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ ซื้อน้ำมันไบโอดีเซล (บี 100) โดยยึดตามราคาประกาศตามโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ตามเว็บไซต์ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน

เกษตรฯ เจรจาร้านขายปุ๋ยร่วมโครงการคนละครึ่ง  จี้ซื้อบี100 ตามราคาประกาศ

โดย ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ราคาประกาศอยู่ที่ 35.54 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ปัจจุบันน้ำมันปาล์มถูกใช้ในการผลิตไบโอดีเซลประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำมันปาล์มที่ประเทศเราผลิตได้ทั้งหมด และจะต้องมีกลไกส่งผ่านราคาไบโอดีเซล ราคาน้ำมันปาล์ม ไปสู่ราคาผลปาล์มให้กับชาวสวนปาล์ม ตามโครงสร้างราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลในเรื่องการวางแผนการปลูกปาล์มเพื่อป้องกันปาล์มล้นตลาด นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) ได้แต่งตั้งให้ตนเป็นประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มชุดใหม่ ซึ่งขณะนี้เตรียมตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นใน 7 จังหวัดภาคใต้ และดำเนินการขึ้นทะเบียนลานเท และลานรับซื้อผลปาล์มของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมด เพื่อกำกับดูแลพ่อค้าคนกลาง ควบคุมราคารับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรให้เกิดความเป็นธรรม นอกจากการนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลแล้ว การเพิ่มการส่งออกน้ำมันปาล์ม รวมถึงการส่งออกไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ก็เป็นแนวทางที่ต้องผลักดันต่อไป

 

สำหรับปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ ขณะนี้ยังไม่เกินระดับสต๊อกปกติที่ 250,000 ตัน แต่สถานการณ์ราคาผลปาล์มกลับตกต่ำ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จึงต้องหาข้อเท็จจริงว่าที่แท้นั้นเกิดมาจากสาเหตุใด และร่วมกันหามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์ม ไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ซ้ำกันอีกทุกปี นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะยกระดับการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าอยู่แล้ว โดยมีหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงลงพื้นตรวจสอบอย่างเข้มข้น

ร้อยเอกธรรมนัส ยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องบูรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า 

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ปุ๋ยคนละครึ่ง) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในรอบปีการผลิต 2567/68 ในราคาไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน) ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถสั่งซื้อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ได้จากแอปพลิเคชั่นที่กรมการข้าว และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พัฒนาร่วมกัน ซึ่ง นายอรรถกร ได้เสนอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เจรจาร่วมกับร้านค้าสินค้าเกษตร เพื่อให้ราคาปุ๋ยมีราคาถูกและให้กำหนดราคากลางให้เท่ากันทุกจังหวัด เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว อีกทั้ง มอบหมายให้กรมการข้าวเร่งนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทันฤดูกาลผลิต อีกด้วย

เกษตรฯ เจรจาร้านขายปุ๋ยร่วมโครงการคนละครึ่ง  จี้ซื้อบี100 ตามราคาประกาศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบหลักการของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยโครงการฯ ปี 67 ให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าว ไม่เกินรายละ 30 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมทั้งโครงการ 20.5 ล้านไร่ ใช้วงเงินประมาณ 1,569.315 ล้านบาท โดยร้อยเอกธรรมนัส ขอให้ ธ.ก.ส. พิจารณาเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติเป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนวงเงินเต็ม ร้อยละ 100 (จากเดิม ธ.ก.ส. รับประโยชน์ ร้อยละ 40 และเกษตรกรรับประโยชน์ ร้อยละ 60) เพื่อนำเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกค่าความชื้นร้อยละ 15 (ข้อมูล ณ 10 มิ.ย. 67) มีราคาเพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน ดังนี้

1) ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ย 15,750 บาท ต่อตัน เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 1,150 บาทต่อตัน หรือร้อยละ 8

2) ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ย 15,300 บาทต่อตัน เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 3,950 บาท ต่อตัน หรือร้อยละ 35

3) ข้าวเจ้า มีราคาเฉลี่ย 12,150 บาท ต่อตัน เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 2,050 บาท ต่อตัน หรือร้อยละ 20

4) ข้าวเหนียว มีราคาเฉลี่ย 14,200 บาท ต่อตัน เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 1,100 บาท หรือร้อยละ 8