ทำไมเศรษฐกิจเราไม่ดี.. ทําไมหุ้นตกมาก
อาทิตย์ที่แล้ว หลังธนาคารโลกปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.4 และตลาดหุ้นดิ่งลงตํ่าสุดในรอบสามปีครึ่ง มีคําถามจากแฟนคอลัมน์หลายคนส่งมาถึงผมโดยตรง ขอความเห็นว่า ทําไมเศรษฐกิจแย่ ทําไมหุ้นตกมาก ซึ่งผมก็ให้ความเห็นไป
วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นที่ผมให้ไปให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ไม่ดีเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างแพร่หลาย โดยเฉพาะหลังสภาพัฒน์รายงานว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งตํ่ามาก
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด หน่วยงานที่จะรู้เรื่องเศรษฐกิจดีสุดคงเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติ เพราะเพิ่งประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
ซึ่งในการประชุมก็คงได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศอย่างละเอียด ก่อนมีมติ 6 ต่อหนึ่งให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดการเงิน
ดังนั้น ถ้าจะเข้าใจว่าทําไมเศรษฐกิจเราแย่ คงต้องเริ่มที่การวิเคราะห์ของแบงค์ชาติว่าแบงค์ชาติมองเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้อย่างไร
ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้กําลังฟื้นตัวและอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมายปลายปีนี้
การฟื้นตัวมีการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ คือการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่การส่งออกชะลอจากการแข่งขันที่มีมากทําให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว
ตรงข้ามกับภาคบริการที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวทําให้ธุรกิจ เช่นโรงแรมและร้านอาหารขยายตัวดี ส่วนภาวะการเงินมีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัว และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสม นี่คือมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย
ถ้าจะเจาะลึก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะนี้ยังอยู่ในระดับตํ่า ไม่เข้มแข็ง เพียงปรับดีขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นและตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ขาดความเข้มแข็งของปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต
เช่น ความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก อำนาจซื้อของประชาชนที่โยงกับมีงานทำ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนของภาคธุรกิจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการขยายตัวของสินเชื่อ
สิ่งเหล่านี้ขาดหายไปในเศรษฐกิจไทยขณะนี้ทําให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอและมีข้อจำกัด คือไปได้ไม่ไกล
หลายหน่วยงานในประเทศ รวมถึงนักวิเคราะห์ต่างประเทศก็มองเห็นข้อจํากัดนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยถูกประเมินต่ำมาตลอดในแง่การขยายตัวโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ไม่มีข้อจำกัดเหล่านี้
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทําให้เศรษฐกิจขณะนี้ดูแย่ก็คือ การขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ต่อนโยบายและการทำหน้าที่ของรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศ
สะท้อนให้เห็นจากการไหลออกของเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดทุนไทยกว่าแปดหมื่นล้านบาทในช่วงห้าเดือนแรกปีนี้ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจัดทําโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ลดลงสี่เดือนต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีและปัจจุบันอยู่ระดับตํ่าสุดในรอบเจ็ดเดือน
คือทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศต่างขาดความเชื่อมั่นและไม่มั่นใจ ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลง ตัวอย่างล่าสุดคือธนาคารโลกเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียเดือนพฤษภาคม
ธนาคารโลกปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกปีนี้ขึ้นเป็นร้อยละ 4.8 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกล่าสุดที่ดูดีขึ้น ซึ่งคาดว่าประเทศในเอเชียจะได้ประโยชน์ เช่น จีน อินโดนีเซีย
แต่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเหลือขยายตัวร้อยละ 2.4 จากที่เคยปรับลดลงเหลือร้อยละ 2.8 เดือนเมษายน ทําให้ไทยจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวตํ่าและอาจขยายตัวตํ่าสุดในภูมิภาคอีกปี
ธนาคารโลกอธิบายว่า การปรับลดเป็นผลจาก
หนึ่ง การส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวช้า ขยายตัวติดลบร้อยละหนึ่งช่วงไตรมาสแรกและขยายตัวร้อยละ 5.8 เดือนเมษายน สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกไทยที่ลดลง
สอง ความเฉอะแฉะ (quagmire) ทางการเมืองและตุลาการของไทย คือเอาแน่เอานอนไม่ได้ ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การทำหน้าที่ของรัฐบาล และเศรษฐกิจ
สาม ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่ที่อาจส่งผลมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยเพราะข้อจำกัดในการปรับตัว
คงชัดเจนว่าที่เศรษฐกิจไทยดูไม่ดีและหุ้นตกไม่หยุดขณะนี้ก็มาจากสองเรื่องนี้ คือ ความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้เราจะมีรัฐบาลใหม่ ที่กระทบการหารายได้ของบริษัทธุรกิจ และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและทิศทางของประเทศที่ทรุดตํ่าลง
จากผลของการเมืองที่มุ่งหักล้างกันที่ทําลายความน่าเชื่อถือและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ทําให้ประเทศไทยไม่ก้าวหน้า ส่งผลต่อโอกาสและความเป็นอยู่ที่ควรดีขึ้นของคนทั้งประเทศ นี่คือความเห็นของผมที่ให้ไป.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล [email protected]