SME’s ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย มุมมองที่แตกต่างเศรษฐกิจไทย ปี 2567
ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าปีก่อน ธนาคารพาณิชย์มองว่ายังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการ SME
คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567 มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี โดย กนง.มองเหมือนเดิมว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจาการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้น และประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 8 ครั้ง โดยครั้งแรกปรับขึ้นเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 และหลังจากนั้น ได้มีการปรับเพิ่มอีก 7 ครั้ง โดวครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับขึ้นจาก 0.5% ในช่วงต้นปี 2565 มาอยู่ที่ระดับ 2.50% ในปัจจุบัน เหตุผลหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมเงินเฟ้อ ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของไทยพุ่งขึ้น ตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปีสูงถึง 6.1%
อานิสงส์ของดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาทำให้ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีกำไรในปี 2566 สูงถึง 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ย้อนแย้งกับเศรษกิจไทยในปี 2566 ที่ GDP ขยายตัวเพียง 2.4% แต่กำไรของธนาคารขยายตัวสูงถึง 18.5% จนเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตอบคำถามสังคม ถึงความผิดเพี้ยนระหว่างสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงกับกำไรของกลุ่มธนาคาร
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายกำกับสถาบันการเงิน ชี้แจงว่า นับแต่ที่คณะกรรมการการเงิน (กนง.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทาง ธปท.มีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจตามมาถึงผู้กู้ได้ จึงพยายามทำเรื่องการส่งผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางไปสู่ธนาคารพาณิชย์ และแบงก์ชาติยังเข้าไปดูเรื่องการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อลดภาระต่อลูกหนี้
การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยรวมของธนาคารพาณิชย์เป็นเรื่องการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินของแต่ละธนาคาร ซึ่งแบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลในรายละเอียด ซึ่งที่ผ่านมามีการออกนโยบายห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ส่งเสริมให้มีการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยงของลูกหนี้แทนการคิดค่ากลางขึ้นมา โดยจะเน้นไปที่การสนับสนุนข้อมูลที่ผิด เพื่อให้ธนาคารแต่ละแห่งสามารถประเมินลูกค้าได้อย่างเหมาะสม และคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมได้ เช่นเดียวกับการส่งเสริมการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์
ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าปีก่อน ธนาคารพาณิชย์มองว่ายังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมองว่าเศรษฐกิจแย่มาก ทำมาหากินด้วยความยากลำบาก และเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL มากที่สุด เราจะหาทางออกจากกับดักนี้ได้อย่างไร มีรายละเอียดที่ขอนำเสนอต่อไปครับ…