เปิดโครงสร้าง ‘งบฯ เพิ่มเติมปี 67’ 1.22 แสนล้านบาท ฉบับกู้เพิ่มแจก 'เงินดิจิทัล'

เปิดโครงสร้าง ‘งบฯ เพิ่มเติมปี 67’ 1.22 แสนล้านบาท ฉบับกู้เพิ่มแจก 'เงินดิจิทัล'

ส่องรายละเอียดโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เตรียมเข้าสภาฯ กลางเดือนก.ค. กู้ขาดดุลเพิ่มทำดิจิทัลวอลเล็ต ดันขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 15.8% คิดเป็น 4.3% ของจีดีพี พบตั้งงบฯ เพิ่มเป็นงบลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท

การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 หรือ “งบฯ กลางปี 67” วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อย และเตรียมที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่  1 ในวันที่ 17-18 ก.ค.67 ที่จะถึงนี้

“กรุงเทพธุรกิจ” ตรวจสอบโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ ครม.ได้เห็นชอบมีโครงสร้างงบประมาณดังนี้

1.) รายจ่ายประจำ กำหนดไว้เป็น จำนวน 24,400 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายประจำตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 2,540,468.6 ล้านบาท  

จะทำให้มีรายจ่ายประจำ จำนวน 2,564,868.6 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 162,382.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.8%  และคิดเป็นสัดส่วน 71.2% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วน 75.4%

- รายจ่ายลงทุน กำหนดไว้เป็น จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 710.08 ล้านบาท 

- รายจ่ายลงทุน จำนวน 809,680.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 118,200.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% คิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566  ซึ่งมีสัดส่วน 21.7%

2.) รายได้รัฐบาล จำนวน 1 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท  จะทำให้มีรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,9793,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566  จำนวน 307,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% คิดเป็นสัดส่วน 15.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

3.) งบประมาณขาดดุลจำนวน 1.12 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับประมาณการขาดดุลปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ จำนวน 693,000 ล้านบาท จะเป็นการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 693,000 ล้านบาท จะมีการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 805,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท หรือขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 15.8% และคิดเป็น 4.3% ของจีดีพี

 

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 1.22 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566  จำนวน   417,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.1%

ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 1 ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุน และงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์