โลก 3 ขั้ว โอกาสเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทย ในวันแบ่งขั้ว ขัดแย้งรุนแรง

โลก 3 ขั้ว โอกาสเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทย ในวันแบ่งขั้ว ขัดแย้งรุนแรง

รายงานล่าสุดจาก Economic Intelligence Center (EIC) ชี้ให้เห็นว่าโอกาสทางเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นจากโลกแบ่งขั้ว ไทยในฐานะประเทศเป็นกลางมีโอกาสส่งออกสินค้าได้มากขึ้น เศรษฐกิจเติบโตได้อีก 0.5% เม็ดเงินลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นถึง 27.3% แต่ไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพ หาตลาดใหม่

KEY

POINTS

  • โลกที่แบ่งขั้วและขัดแย้งรุนแรงที่เป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้การค้าระหว่างประเทศเผชิญความไม่แน่นอน หลายคนอาจมองว่าเป็นวิกฤต แต่สำหรับประเทศไทย มีโอกาสทองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรออยู่
  • รายงานล่าสุดจาก Economic Intelligence Center (EIC) ชี้ให้เห็นว่าโอกาสทางเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นจากมหาอำนาจตั้งกำแพงภาษีใส่กัน ไทยในฐานะประเทศเป็นกลางมีโอกาสส่งออกสินค้าได้มากขึ้น มีโอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตได้อีก 0.5% เม็ดเงินลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นถึง 27.3%
  • อย่างไรก็ตามภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับตัว เร่งพัฒนาศักยภาพ: พัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก, เพิ่มมูลค่าสินค้า, ปรับตัวเข้ากับเทรนด์ใหม่ๆ ควบคู่การกระจายความเสี่ยง: หาตลาดใหม่ พึ่งพาตลาดจีนให้น้อยลงและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต 

     

"ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์" ที่มีขั้วอำนาจต่างๆขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรยากาศการค้าของโลก ทำให้การค้าโลกเผชิญความไม่แน่นอน ส่งผลต่อการส่งออกของไทยให้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงก็สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยด้วยเช่นกัน

Economic Intelligence Center (EIC) เปิดเผยในรายงานเรื่อง “คว้าโอกาสอุตสาหกรรมไทยใวันที่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) รุนแรงขึ้น” เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ว่า มีสาระสำคัญว่าการค้าระหว่างประเทศเชื่อมโยงภาคการผลิตทั่วโลกเป็นห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน แต่ละประเทศเลือกนำเข้าสินค้า จากประเทศคู่ค้าที่เหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาจากมิติต่าง ๆ เช่น ค่าจ้าง ผลิตภาพ และปัจจัยแวดล้อมอื่น           

การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นและกีดกันการค้าระหว่างขั้วกันรุนแรงขึ้นจะทำให้รูปแบบโครงสร้างการค้าโลกและห่วงโช่การผลิตโลกเปลี่ยนแปลงไป เพราะประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์แตกต่างกันจะค้าขาย ลงทุน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันน้อยลง แต่ละประเทศจะหันมาค้าขายกับประเทศคู่ค้าที่ เหมาะสมรองลงมา แต่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกันมากขึ้น

โลก 3 ขั้ว ประเทศเป็นกลางได้เปรียบ

SCB EIC แบ่งกลุ่มประเทศในโลกออกเป็น 3 กลุ่ม ที่อยู่ต่างขั้วได้แก่

1. สหรัฐฯ และประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกันเช่น เม็กชิโก แคนาดา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

2. จีนและประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกัน เช่น ฮ่องกง รัสเซีย อิหร่าน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา

และ 3.ประเทศที่มีบทบาทเป็นกลางในจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น อินเดีย อาเซียน-5 (สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บราซิล แอฟริกาใต้ โมรออกโก

โลก 3 ขั้ว โอกาสเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทย ในวันแบ่งขั้ว ขัดแย้งรุนแรง

ทั้งนี้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงได้โดยผลการศึกษาพบว่าการตั้งกำแพงภาษีระหว่างขั้วสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของโลกลดลง โดยเศรษฐกิจของโลกหดตัวน้อยกว่ามูลค่าการส่งออกโลก สะท้อนว่าประเทศที่แบ่งขั้วมีการปรับตัวโดยหันไปค้าขายกับตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยตรง

 โดยประเทศที่เป็นกลาง (รวมไทย) จะได้อานิสงส์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า เมื่อประเทศที่แบ่งขั้วทางเศรษฐกิจตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ขัดแย้งกันมากขึ้น รวมถึงประเทศที่เป็นกลางและไทยซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

ทั้งนี้ผลการจำลองสถานการณ์ตามการศึกษาพบว่า ไทยจะมีเม็ดเงินลงทุนรวม (มูลค่าที่แท้จริง) เพิ่มขึ้นถึง 27.3%

ขณะที่การลงทุนจากเงินออมภายในประเทศจะเติบโตขึ้น 4.3% เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวขึ้นประมาณ 0.5% จากกรณีฐาน สะท้อนว่าโดยรวมแล้วการ เบี่ยงเบนการค้าและการลงทุนจะให้ผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าผลข้างเคียงจากสินค้านำเข้าราคาถูกที่จะเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเบี่ยงเบนทางการค้าอาจไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะสินค้าส่งออกจากประเทศแบ่งขั้วอาจเข้ามาตีตลาดภายในประเทศที่เป็นกลางมากขึ้นและแย่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจในประเทศ

โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีนที่อาศัยความได้เปรียบในการผลิตขนาดใหญ่ (Economy of scale) ดังเช่นสถานการณ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศอาเซียน และไทยเริ่มมองเห็นปัจจัยเสี่ยงจากการระบายสินค้าส่งออกจากจีนที่เพิ่มขึ้นมากและการขาดดุลการค้ากับจีนสูงขึ้น

ไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้า

ไทยมีโอกาสจะได้อานิสงค์หากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นอีก โดยผลบวกต่อการส่งออก ไทยจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการตั้งกำแพงภาษีของประเทศแบ่งขั้วได้แสดงผลของการปรับอัตราภาษีนำเข้าของแต่ละขั้วประเทศต่อมูลค่าการส่งออกของไทย จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นอีก

หากสองขั้วประเทศยิ่งปรับอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันเพิ่มเป็น 50% สะท้อนว่าหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น ผลบวกต่อการส่งออกไทยจากการเบี่ยงเบนการค้าและการลงทุนมาสู่ไทยจะมากกว่าผลลบจากความต้องการนำเข้าที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ที่ปรับแย่ลง โดยสุทธิแล้วมูลค่าการส่งออกของไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น

สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ผลการศึกษาจากสถานการณ์จำลองชี้ว่าจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน แบ่งได้ 2 กลุ่ม

โดยกลุ่มที่ 1 มีโอกาสได้ประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทย ตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าในปี 2018 ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ไทยมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ เช่น

คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยจะได้อุปสงค์สินค้าทดแทนเพิ่มขึ้น จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากข้อพิพาททางการค้า เช่น เครื่องดื่มและยาสูบ เนื้อสัตว์และ เนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอยู่แล้วและโลกยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น

โดยผลการศึกษาพบว่าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้อาจขยายตัวได้ถึง 6% จากกรณีฐาน โดยจะมีความต้องการนำเข้าที่เบี่ยงเบนมาจากกลุ่มที่แบ่งขั้วกันเป็นหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น รถยนต์และส่วนประกอบ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 8% และ 1.6% ตามลำดับ

โดยมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประเทศเป็นกลางด้วยกัน เช่น ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศขั้วสีแดง เครื่องดื่มและยาสูบ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยจะมีความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หลัก ๆ จากประเทศเป็นกลางในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ปิโตรฯ - พลาสติก แผงวงจรไฟฟ้าเสียประโยชน์

กลุ่มที่ 2 มีโอกาสเสียประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไทยที่ผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตของ จีนหรือพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดจีนเยอะ เช่น ปิโตรเคมีและพลาสติก ยางพาราและไม้ยางพารา ฮาร์ดดิสก็ไดร์ฟ แผงวงจรพิมพ์ อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงภายในภูมิภาคเพื่อแย่งชิงอุปสงค์ทดแทน จีนจากสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เชมิคอนด้กเตอร์

รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของ สินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เหล็กและเหล็กกล้า ผักและผลไม้ เสื้อผ้า สิ่งทอ

โดยพบว่าเสื้อผ้าและสิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่ยังผูกโยงกับห่วงโช่การผลิตโลกเก่าและมีความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยมูลค่าการส่งออกสิ่งทอไทยจะลดลงมากถึง 24% จากกรณีฐาน

เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งสาขาการผลิตขนาดใหญ่ที่จะเสียประโยชน์ มูลค่าการส่งออกอาจลดลงราว 6%

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการแข่งขันสูงในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ แต่ไทยยังพอมีตลาดส่งออกไปยังประเทศแบ่งขั้วที่ต้องการสินค้านำเข้าทดแทนได้อยู่บ้างผลการศึกษาข้างต้นชี้ว่า หากการแบ่งขั้วในโลกรุนแรงขึ้นจะเป็นโอกาสของไทยได้ ถ้าไทยมีกลยุทธ์ในการปรับตัวเชิงรุก

เพราะส่วนหนึ่งไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตที่เป็นปัญหาสะสมมานาน ในช่วงที่ผ่านมาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยยังมีจำกัด และมีศักยภาพการส่งออกต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เพราะสินค้าส่งออกไทยส่วนใหญ่ ยังผูกโยงกับห่วงโชการผลิตของโลกเก่า และปรับตัวได้ค่อนข้างช้าต่อความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

จากข้อมูลเฉลี่ยปี 2018 - 2022 พบว่าสินค้าส่งออกไทย 23% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ความต้องการโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นไม่มากจากค่าเฉลี่ยช่วงปี 2013 - 2017 ที่ 16% แต่หากเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม

กลับสามารถส่งออกสินค้าที่โลกต้องการเพิ่มขึ้นภายในช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้เกือบเท่าตัว คำถามสำคัญคือ ไทยจะวางยุทธศาสตร์ในอนาคตอย่างไร เพื่อเร่งให้ภาคการผลิตไทยเข้าไปมีส่วนร่วมปรับห่วงซ่การผลิตใหม่ของโลกได้เร็วขึ้น ?

โลก 3 ขั้ว โอกาสเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทย ในวันแบ่งขั้ว ขัดแย้งรุนแรง

SCB แนะกลยุทธ์อุตสาหกรรม 4 กลุ่ม 

SCB EIC นำเสนอกลยุทธ์ส่งเสริมกรส่งออกของไทยและการปรับตัวภาคธุรกิจเชิงรุก .ใน 4 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง

นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในกรผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจ ต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสิค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก

บทบาทภาครัฐ :

(1) เน้นให้เงินสนับสนุนให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ เช่น อุดหนุนต้นทุนการผลิต หรืออุดหนุนการลงทุน

ด้านการตลาด เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

 (2) ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกหาพันธมิตรบนห่วงโซ่การผลิตอย่างมี กลยุทธ์ เช่น การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยเข้าถึงโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าที่มีความสำคัญ เชิงกลยุทธ์ หรือการควบรวม Supplier ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Vertical integration)

การปรับตัวของภาคธุรกิจ

(1) คัดกรองสินค้าและลาดเป้าหมายที่สอดคล้องกับจุดแข็งของธุรกิจ และวางกลยุทธ์

เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต โดยต่อยอดจากจุดแข็งที่มี

 (2) วางกลยุทธ์ในการรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดเดิมๆ

(3) พัฒนา High-value product และพัฒนาสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับเทรนด์ของโลกมากขึ้น

(4) ปรับปรุงกระบวนการผลิตเน้นการวิจัยและพัฒนา

 

2.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และไม่ต้องแข่งขันสูง นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐาน ความยั่งยืน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน

บทบาทภาครัฐ  

(1) สนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่ เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจและกระจายความเสี่ยง

(2) สร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

การปรับตัวของภาคธุรกิจ  

(1) ลดความเสี่ยง โดยลงทุนเพื่อคว้าโอกาส/ลดผลกระทบด้านต่าง ๆเช่น Climate change

(2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ

3.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่ไม่ต้องแข่งขันสูง

นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจประเทศแบ่งขั้วให้เข้าถึงความต้องการได้ดีขึ้น

บทบาทภาครัฐ

(1) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี / ให้เงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีการ

ผลิต

(2) สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ส่งออก มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน

การปรับตัวของภาคธุรกิจ

(1) เพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิตและองค์ความรู้

(2) เพิ่มความสัมพันธ์ ของสหรัฐฯ และจีน โดยผลักดันการเป็นฐานการผลิต เช่น ใช้เทคโนโลยีของจีนในการผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ

แนะเปลี่ยนผ่านกลุ่มผลิตไม่เก่ง - แข่งขันสูง

4.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโชการผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโชการผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยี

บทบาทภาครัฐ

(1) ชี้เป้าหมายสาขาการผลิตที่มีศักยภาพดีกว่า และช่วยให้ผู้ส่งออกมีความได้เปรียบในการปรับตัวไปสู่ภาคการผลิตดังกล่าว

(2) ให้เงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ผู้ส่งออกย้ายภาคการผลิต

(3) ปรับปรุงโครงสร้างเชิงสถาบัน เช่น กฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจที่ล้มเหลวกลับเข้าดำเนินการได้ในภาคการผลิตที่มีศักยภาพมากกว่า          

การปรับตัวของภาคธุรกิจ

(1) ลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าในสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าเกษตรมูลค่าสูงอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร

(2) หาพันธมิตรที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่

SCB EIC ระบุว่าโลกที่แบ่งขั้วไปแล้วคงยากจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่หากสามารถคว้าโอกาสจากความขัดแย้งนี้ และเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์กับประเทศได้

โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ผ่านการออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม พอดีตัว กับประเภทธุรกิจ ที่มีปัญหาแตกต่างกัน และผลักดันเชิงรุกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการส่งออก

รวมถึงภาคธุรกิจเองที่ต้องตระหนักถึง โลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยต้องเร่งทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นจากภายนอกสู่ภายในธุรกิจของตนเอง เพื่อให้การส่งออกไทยอยู่รอดได้ทั้งในสถานการณ์ "โลกรวมกันเราก็อยู่" หรือแม้ "โลกแยกหมู่ไทยก็ยังรอด"