‘เศรษฐา’ ลั่น ‘เงินดิจิทัล’ ฟื้นการผลิต - จ้างงาน งบ 68 สร้างพายุหมุนเศรษฐกิจ
‘นายกฯ’ แถลงหลักการ ร่างงบปี 68 แจกหมื่นบาท ดิจิทัลวอลเล็ตถึงมือคนไทยปลายปี สร้างพายุทางเศรษฐกิจ ชี้งบภาครัฐไปสู่เอกชน กระตุ้นการใช้จ่าย - บริการ สำนักงบ ยันตั้งงบรายจ่ายดิจิทัลวอลเล็ตใน พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมปี 67 วงเงิน 9 หมื่นล้านเศษ ไม่ขัดวิธีการงบประมาณ ชงสภาฯ ก.ค.นี้
KEY
POINTS
- ‘นายกฯ’ แถลงหลักการ ร่างงบปี 68 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ตั้งงบประมาณแจกดิจิทัลวอลเล็ต 152,700 ล้านบาท เพื่อแจกเงินถึงมือคนไทยปลายปี สร้างพายุทางเศรษฐกิจ
- พร้อมย้ำงบภาครัฐไปสู่เอกชน กระตุ้นการใช้จ่าย-บริการ
- สำนักงบฯ ยันตั้งงบรายจ่ายดิจิทัลวอลเล็ตใน พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมปี 67 วงเงิน 9 หมื่นล้านเศษ ไม่ขัดวิธีการงบประมาณ ชงสภาฯ ก.ค.นี้
- กฤษฎีกาตีความโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในส่วนของ ธ.ก.ส.โดยกระทรวงการคลัง จะเป็นฝ่ายเสนอผ่าน ครม.
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรประชุมสมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ เพื่อพิจาณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรก โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานการประชุม
สำหรับภาพรวมงบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 72.1% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาเป็นรายจ่ายลงทุน 9.08 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.2% ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนสูงรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4%
ขณะที่รายรับ 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% แบ่งเป็นรายได้รัฐบาล 2.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% และเงินกู้ 865,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.9%
ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10,000 ล้านบาท โดยการจัดสรรงบประมาณยังยึดตามยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากนี้ ได้ประเมินเศรษฐกิจปี 2568 ขยายตัว 2.8-3.8% อัตราเงินเฟ้อ 1.1-2.1% และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด/จีดีพี 1.6% โดยมีข้อจำกัด และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจากแรงขับเคลื่อนการคลังลดลง รวมถึงความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์กระทบเศรษฐกิจโลก และตลาดเงิน และตลาดทุนผันผวน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการ และเหตุผลต่อที่ประชุมว่า ปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน จะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่กระตุ้นเศรษฐกิจที่ทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก ไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดการใช้จ่าย สั่งผลิตสินค้า จ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นภาษีให้กับรัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป
สำหรับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูงกว่า 91.3% ต่อจีดีพี ซ้ำกับปัญหาหนี้นอกระบบ และเอสเอ็มอีจำนวน 3.2 ล้านราย โดยครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การเติบโตของเอสเอ็มดีอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รัฐบาลต้องทำนโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง
โดยมีประมาณการเก็บรายได้จากภาษีได้สุทธิ 3.02 ล้านล้านบาท และหักการจัดสรรภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1.35 แสนล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิ 2.88 ล้านล้านบาท และมีเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณณ จำนวน 8.6 แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3.7 ล้านล้านบาท
“การทำงบแบบขาดดุล มีความสำคัญ และจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากไหลจากภาครัฐไปสู่เอกชน ให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า บริการ หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง” นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะ 11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.37% ของจีดีพี ทั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ให้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี ขณะที่เงินคงคลัง เมื่อ 30 เม.ย.67 มี 4.3 แสนล้านบาท
“รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี มีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 2.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขเมื่อ 31 ธ.ค.2566 คิดเห็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ถือว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่งมาก”
นายเศรษฐา กล่าวว่า แม้งบประมาณปี 2568 จะขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 9.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 24.2% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มจากปีก่อน 27.9% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 17 ปี การบริหารงบรายจ่ายทั้งหมด จะใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบการเงินการคลัง ใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชน และภาคธุรกิจ สร้างการเติบโตให้ประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย
รัฐบาลเร่งเครื่องดันงบแจกเงินดิจิทัล
รายงานข่าวระบุว่านโยบายเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลวางแผนใช้แหล่งเงิน 3 แหล่ง ได้แก่
1.การออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลต้องใช้การบริหารงบประมาณจากงบกลางเพิ่มเติมเพราะเดิมวงเงินที่จะใช้จากงบประมาณปี 2567 นั้นกำหนดไว้ 175,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้งบกลางปี 2567 อีกกว่า 53,000 ล้านบาท
2.ตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ไว้ในงบกลางในงบประมาณรายจ่ายปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
3.ขอใช้วงเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยขอให้ ธ.ก.ส.จัดทำโครงการเพื่อดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ
สำหรับความคืบหน้าของการจัดทำงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ โดย พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 1 ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมปี 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบ และรายละเอียดงบประมาณวงเงิน 122,000 ล้านบาท
ก.ค.ชงสภาฯ ร่างเคาะงบกลางปี 67
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว สำนักงบประมาณจะเปิดให้รับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจะนำความเห็นมาปรับปรุงรายละเอียดก่อนจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 เพื่อเสนอ ครม.ก่อนที่ส่งให้รัฐสภาพิจารณากลางเดือนก.ค.นี้
สำหรับการที่วงเงินงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 ที่ตั้งงบประมาณส่วนใหญ่ 97,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 1.22 แสนล้านบาท เป็นรายจ่ายลงทุน นั้น นายเฉลิมพล กล่าวว่า สามารถตั้งงบประมาณลักษณะนี้ได้เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งวงเงินที่ตั้งไว้เป็นรายจ่ายลงทุนนั้นเนื่องจากเมื่อเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ประชาชนจะใช้จ่าย และทำให้เกิดการผลิต และการลงทุนตามมา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
“กฤษฎีกา”รอตีความใช้เงิน ธ.ก.ส.
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ในส่วนของการตีความข้อกฎหมายในการขอใช้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น คาดว่าเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการทำงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ทราบในรายละเอียดเพราะว่าอยู่ในส่วนของการบริหารโครงการ
ส่วนการที่กระทรวงการคลังจะรอให้ ธ.ก.ส.ทำโครงการเข้ามาก่อนนั้น โดยตรรกะแล้วก็เป็นเช่นนั้น เพราะว่าหากจะใช้เงินตามมาตรา 28 นั้นก็ต้องใช้วิธีการทำเข้ามาเป็นโครงการผ่าน ครม.ตามขั้นตอน
สำหรับกรณีที่สหภาพ ธ.ก.ส.ไปยื่นขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายว่าการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตขัดกับกฎหมายหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้รับไว้พิจารณา เนื่องจากตามขั้นตอนนั้น ธ.ก.ส.นั้นต้องหารือกันภายใน และหารือกับกระทรวงการคลัง
“สหภาพต้องคุยกับ ธ.ก.ส.ก่อน แล้ว ธ.ก.ส.คุยกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการต้องทำตามขั้นตอนทั้งการเข้าบอร์ด ธ.ก.ส.รวมถึงเสนอกระทรวง และจากกระทรวงเสนอ ครม.ซึ่งกฤษฎีกาจะให้ความเห็นส่วนนี้ ตอนนี้จะช้าหรือเร็วอยู่ที่กระทรวงการคลังจะพิจารณา และทำงานตามไทม์ไลน์ที่มี” เลขาธิการกฤษฎีกา กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์