‘คลัง’ เปลี่ยนเกมค้ำสินเชื่อ ตั้ง ‘องค์การมหาชน’ ช่วย SME เข้าถึงแหล่งเงิน
“เผ่าภูมิ” เล็งเปลี่ยนเกมค้ำประกันสินเชื่อ เผยคลังเตรียมชง ครม. ตั้ง “องค์การมหาชน” เป็นหน่วยงานใหม่ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs ในรูปแบบที่แตกต่างจากรูปแบบที่ใช้ บสย. หนุนรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้นชี้เป็นโมเดลที่สำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นเป็นหน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชนขึ้นมาเพื่อช่วยในการปรับโครงสร้างทางการเงินในการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
จากเดิมที่มีกลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันให้ SME ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อให้ได้วงเงินสินเชื่อตามที่ต้องการ โดยผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้กับ บสย. โดยอัตราเรียกเก็บขึ้นอยู่กับประเภทการค้ำประกัน และมีรัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมแทนไม่เกิน 30%
ใช้กลไกซื้อประกันความเสี่ยงสินเชื่อ
ทั้งนี้หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ จะมีความคล่องตัวในการดำเนินงานเหมือนเอกชนแต่เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสินเชื่อแต่รู้ว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอให้มาเข้าร่วมกลไกค้ำประกันนี้ก่อนไปธนาคาร ซึ่งกลไกค้ำประกันดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นเหมือนการจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อซื้อประกันสินเชื่อให้ธุรกิจ โดยภาครัฐช่วยสมทบส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการจะเป็นหนี้เสีย (NPL) หากมีความเสี่ยงและไม่สามารถชำระคืนได้หน่วยงานดังกล่าวก็จะช่วยจ่ายแทนให้
นอกจากนี้ หน่วยงานยังจะทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของผู้ประกอบการ โดยค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันของแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยง โดยจะมีการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เพื่อประเมินความเสี่ยงของแต่ละรายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เมื่อมีผู้มาค้ำประกันมากก็จะช่วยกันแชร์ความเสี่ยงทำให้ค่าธรรมเนียมต่ำ และจะใช้งบประมาณของรัฐน้อยกว่าเดิมมาก ทั้งนี้กลไกดังกล่าวประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ
“กลไกดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการปราศจากความเสี่ยง ต่อไปก็จะดึงดูดให้ธนาคารเข้าหาเพื่อเสนอโปรดักส์สินเชื่อให้ ทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยมาตรการข้างต้นเตรียมจะเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา”
คลังเร่งอัดสินเชื่อเติมสภาพคล่องลงระบบเศรษฐกิจ
ส่วนเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องลงในระบบเศรษฐกิจนอกจากเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในไตรมาส3และเริ่มโครงการในไตรมาส 4 ปีนี้ กระทรวงการคลังยังผลักดันให้มีสินเชื่อลงไปในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด
ก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีการอนุมัติสินเชื่อ 2 โครงการวงเงินรวม 5.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ธนาคารออมสินดำเนินการ และอีกโครงการคือโครงการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 11 (PGS 11) วงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะจัดสรรวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ชดเชยดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ 8,275 ล้านบาท
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารออมสิน ออกมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ “soft loan” วงเงิน 100,000 ล้านบาท ปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.1% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อต่อให้ลูกค้า SMEs รายใหม่ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยที่แน่ชัด แต่คาดว่าดอกเบี้ย 1-3 ปีแรก อาจอยู่ที่ 3.5% และปีที่ 4-5 อาจอยู่ที่ 5-6% ซึ่งมาตรการนี้ได้มีการหารือกันในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้วอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการเพื่อเสนอ ครม.
ไม่ละเลยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
นายเผ่าภูมิ ยังกล่าวถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวมีความสำคัญเสมอมาและต้องไม่ละเลย แต่เหตุผลที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพราะหากเศรษฐกิจไม่น่าสนใจ ไม่มีกำลังซื้อ การวางแผนในอนาคตก็จะไม่รอด
โดยกระทรวงการคลังมีโครงการที่ผลักดันเรื่องการปรับโครงสร้างระยะยาว ได้แก่ การสนับสนุนธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) และโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อการเกษียณ หรือหวยเกษียณ เพื่อสนับสนุนกลไกการออมให้กับประเทศ แต่เรื่องเหล่านี้กว่าจะเห็นผลลัพธ์ก็จะต้องใช้ระยะเวลา