ส่องกระเป๋าเงินคนไทย ‘เปราะบาง’ ‘วัยทำงาน’ รายได้ต่ำ – ไร้เงินสำรองฉุกเฉิน

ส่องกระเป๋าเงินคนไทย ‘เปราะบาง’  ‘วัยทำงาน’ รายได้ต่ำ – ไร้เงินสำรองฉุกเฉิน

SCB EIC เปิดผลสำรวจกระเป๋าเงินคนไทย รายได้กลุ่มไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน เงินออมฉุกเฉินแทบไม่เหลือพบ กลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน เกินครึ่งไม่มีเงินออมฉุกเฉิน ชี้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอ ค่าครองชีพสูง

สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน และวัยแรงงาน ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นนอกจากส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของกลุ่มแรงงานที่ประสบปัญหาสภาพคล่องยังส่งผลต่อเรื่องของเงินสำรองฉุกเฉิน ที่ปกติแรงงานจะเก็บออมสำรองไว้ในกรณีประสบปัญหา และวิกฤติฉุกเฉินแบบไม่คาดคิด

หรือกล่าวได้ว่าไม่มี “กันชนทางการเงิน” ที่เพียงพอที่จะรองรับวิกฤติข้างหน้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยผลสำรวจ "SCB EIC Consumer survey" ล่าสุด ในการแถลงมุมมองเศรษฐกิจปี 2024 - 2025 ณ ไตรมาส 2 ปี 2024 โดยพบว่าจากการสำรวจผู้บริโภคกว่า 70% มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่ถึง 3 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน  

โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานอายุ 31 – 40 ปี เป็น ลูกจ้างบริษัทเอกชนหรือประกอบอาชีพอิสระ ทั้งนี้ผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเงินสำรองของคนในกลุ่มรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินสูงสุดโดยมีข้อมูลดังนี้

กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน

  • ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน 51%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 1-3 เดือน 35%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 4 – 6 เดือน 6%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 7 – 12 เดือน 4%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 13 – 24 เดือน 3%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉินมากกว่า 24 เดือน 1%

กลุ่มที่มีรายได้15,001 – 30,000 บาทต่อเดือน

  • ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน 39%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 1-3 เดือน 40%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 4 – 6 เดือน 10%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 7 – 12 เดือน 5%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 13 – 24 เดือน 3%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉินมากกว่า 24 เดือน 3%

กลุ่มที่มีรายได้ 30,001 – 50,000 บาทต่อเดือน

  • ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน 22%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 1-3 เดือน 39%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 4 – 6 เดือน 18%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 7 – 12 เดือน 12%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉิน 13 – 24 เดือน 4%
  • มีเงินสำรองฉุกเฉินมากกว่า 24 เดือน 6%

ทั้งนี้สูตรเงินสำรองฉุกเฉินที่เหมาะสมทั่วไป = ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน x ระยะเวลา 6 เดือน ตัวอย่างเช่น นาย ก. มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 25,000 บาท ฉะนั้น นาย ก. ควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน 25,000 x 6 = 150,000 บาท

โดยหากแรงงานมีเงินฉุกเฉินสำรองน้อยกว่าเกณฑ์นี้ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะต้องมีการกู้หนี้ยืมสิน และเข้าสู่วงจรของการเป็นหนี้เรื้อรังได้หากต้องเจอเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่คาดคิดเกิดขึ้นในอนาคต

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์