'สุริยะ' สายตรงเจรจา 'ดอนเมืองโทล์ลเวย์' เสนอยืดสัมปทาน ชะลอปรับค่าทางด่วน

'สุริยะ' สายตรงเจรจา 'ดอนเมืองโทล์ลเวย์' เสนอยืดสัมปทาน ชะลอปรับค่าทางด่วน

“สุริยะ” สายตรงเจรจา “ดอนเมืองโทล์ลเวย์” ชะลอขึ้นค่าผ่านทาง 22 ธ.ค.67 นี้ ยื่นข้อเสนอขยายสัญญาสัมปทานจากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2577 จี้ “กรมทางหลวง” เร่งศึกษาราคาที่เหมาะสม และผลบวกดันปริมาณผู้ใช้ทาง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ทางด่วนโทล์ลเวย์ ประกาศเตรียมปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 22 ธ.ค.2567 ตนเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับค่าครองชีพของประชาชน จึงได้มอบนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) เจรจากับเอกชนคู่สัญญา เพื่อชะลอการปรับลดค่าผ่านทาง

อีกทั้ง เช้าวันนี้ (21 มิ.ย.67) ตนได้โทรศัพท์ไปยัง นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เพื่อเจรจาให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจากประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นของการเจรจาโดยทางเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ แต่ขอให้ภาครัฐพิจารณาชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ บีอีเอ็ม ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับการปรับโครงสร้างอัตราค่าผ่านทางลงเหลือ 50 บาทตลอดสาย

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ตนได้มอบหมายให้ ทล.ศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบกรณีปรับลดค่าผ่านทาง ต้องคงอัตราเท่าไร จึงจะเหมาะสมไม่เป็นภาระประชาชนมากเกินไป และหากปรับลดค่าผ่านทางลงจะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอย่างไร อีกทั้งการดำเนินงานเหล่านี้จะจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการทางด่วนโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยหากปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันปริมาณ 4 – 5 หมื่นคันต่อวัน เป็น 8 หมื่นคันต่อวัน ทางด่วนจะมีขีดความสามารถรองรับเพียงพอหรือไม่

“ตอนนี้แน่นอนว่าเราจะไม่ใช้วิธีชดเชยเงิน เพราะจะเป็นภาระงบประมาณ แต่ใช้วิธีเจรจากับเอกชนเพื่อใช้แนวทางขยายสัญญาแลกเปลี่ยน แต่จะขยายไปนานแค่ไหน ต้องรอให้กรมทางหลวงศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 – 3 เดือนนี้”

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน แต่กระทรวงฯ เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะหากเปรียบเทียบกับการไม่เจรจาเรื่องนี้ และปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมด ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานอีก 2 ครั้ง ในเดือนธ.ค. 2567 และ ธ.ค.2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ ยืนยันว่าการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทล์ลเวย์ครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญเพื่อลดภาระประชาชน ไม่ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับแลกการก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงรังสิต – บางปะอิน ที่ ทล.มีแผนจะดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งกระทรวงฯ มองว่าการปรับลดค่าผ่านทางจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้ทางด่วนโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้น แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนวิภาวดี

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า สัญญาสัมปทานดอนเมืองโทล์ลเวย์เอกชนได้รับสัมปทานจาก ทล. ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุน และกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2538 ปี 2539 และล่าสุดในปี 2550 ซึ่งจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2577

ทั้งนี้ จากกรณีที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้เจรจาปรับลดค่าผ่านทางดอนเมืองโทล์ลเวย์ ทล.จะเร่งดำเนินการศึกษาข้อมูล และเจรจากับเอกชน ซึ่งประเมินเบื้องต้นหากปรับลดค่าผ่านทางลง คาดว่าจะจูงใจให้ประชาชนใช้บริการทางด่วนดอนเมืองโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นราว 15 - 20% ซึ่งทางด่วนดังกล่าวมีขีดความสามารถเพียงพอในการรองรับ

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์