เช็กอาการภาคการผลิต 5 เดือนแรก ปีนี้ ปิดโรงงาน 485 แห่ง เลิกจ้าง 1.2 หมื่นคน

เช็กอาการภาคการผลิต 5 เดือนแรก ปีนี้ ปิดโรงงาน 485 แห่ง เลิกจ้าง 1.2 หมื่นคน

เศรษฐกิจทรุดกว่า 2 ปี โรงงานปิดกิจการกว่า 3,418 แห่ง กระทบเงินลงทุน 2.3 แสนล้านบาท คนตกงานกว่า 8 หมื่นคน ในขณะที่เพียง 5 เดือน พบปิดโรงงานแล้วกว่า 485 แห่ง สูญเงินลงทุนกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท “พิมพ์ภัทรา” เล็งหารือ “ส.อ.ท” ร่วมแก้ปัญหา

จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI เดือนเมษายน 2567 ขยายตัว 3.43% อยู่ที่ระดับ 90.34 เป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคการผลิต MPI หดตัวมาตลอด 18 เดือนติดต่อกัน

โดย GDP สาขาการผลิตลดตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 โดยล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่ง GDP สาขาการผลิตหดตัว -3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ยอดปิดโรงงานย้อนหลังตั้งแต่ ม.ค.2565-มิ.ย.2567 รวม 2 ปี 5 เดือน พบโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น 3,418 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวม 231,245 และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 88,675 คน

รวมทั้งหากแยกเฉพาะเดือนม.ค.-พ.ค.2567 รวม 5 เดือน มีโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น 485 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวม 13,990.61 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 12,472 คน

โดยกลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร เป็นกลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของการปิดตัวโรงงานมากที่สุด

 

 

 

ในขณะที่เดือนพ.ค.2567 เพียงเดือนเดียว มีจำนวนโรงงานที่เลิกประกอบกิจการ จำนวน 69 แห่ง เงินลงทุน 2,236.34 ล้านบาท จำนวนการเลิกจ้างงาน 1,907 คน โดยโรงงานที่เลิกประกอบกิจการในเดือนพ.ค.2567 มีจำนวนโรงงานมากกว่าเดือนพ.ค.2566 ที่ 19.05% จำนวนการเลิกจ้างงานมากกว่า 4.91% และเงินลงทุนมากกว่า 12.15%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการมากที่สุด 3 อันดับ คือ

1. กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 12 โรงงาน

2. กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ จำนวน 11 โรงงาน

3. กลุ่มแปรรูปไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 8 โรงงาน

ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการที่มีเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ คือ

1. กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ เป็นเงินลงทุน 638.00 ล้านบาท

2. กลุ่มผลิตยานพาหนะ และอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะ และอุปกรณ์ รวมเงินลงทุน 478.54 ล้านบาท

3. กลุมเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เคมี เงินลงทุน 281.00 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุหลักของการตัดสินใจปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย เกิดจากสินค้าส่งออกของไทยได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากไม่มีสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไฮเทคที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก ประกอบกับการขยายตัวของคู่แข่งในภูมิภาคที่สามารถผลิตสินค้าในกลุ่มเดียวกับไทยได้ เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเก่า และเป็นการผลิตขั้นกลางหรือเป็นผู้รับจ้างผลิตOEM ทำให้อุตสาหกรรมไทยขาดเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิต และการพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด 

รวมถึงปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ดอกเบี้ยเงินกู้และค่าโลจิสติกส์ ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้

“อีกสิ่งที่กังวลคือ สินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ และตลาดหลักในภูมิภาคที่เป็นคู่ค้ากับไทย ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้ง ผลิตภาพแรงงานไม่เพิ่มขึ้นตามค่าแรงที่เพิ่มขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว

นอกจากนี้ จากปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ GDP ที่ขยายตัวช้ากว่าคู่แข่งเพื่อนบ้าน ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 91.3% ต่อ GDP ประเทศ การจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า รวมถึงปัญหาการเมืองที่ไม่แน่นอน และปัญหาการคอร์รัปชันที่ยังคงฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจประเทศฟื้นกลับมาได้ช้าลง

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเม.ย.2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง 

ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน

ทั้งนี้ เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ตลอดจนผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทย และอาเซียนมากขึ้น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หนังและผลิตภัณฑ์หนัง 

รวมทั้งการพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันวิกฤติความมั่นคงทางด้านอาหารในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว และอยู่ระหว่างประสานมายังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรับฟัง และหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์