จับตาราคายางครึ่งปีหลัง 'สดใส' ไทยประกาศพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR
รมว.เกษตรฯ มั่นใจราคายางสูงขึ้นอีกช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมเร่งผลักดันการรับมือกฎกติกา EUDR เร่งนโยบายโฉนดเพื่อการเกษตรในพื้นที่ สปก. ที่เป็นพื้นที่สวนยาง
ภายหลังจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราคายางพาราของไทยได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรชาวสวนยางพึงพอใจและรอคอยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายหลักที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและผู้ประกอบกิจการยางพาราไทย ได้ผลักดันให้มีการจัดการข้อมูลยาง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย EUDR และมาตรฐานระดับสากลต่างๆ
พร้อมทั้งได้ผลักดันโฉนดเพื่อการเกษตรในพื้นที่ สปก. ที่เป็นพื้นที่สวนยาง กว่า 9.2 ล้านไร่ ให้เป็นพื้นที่ทำกินที่ถูกต้อง รวมทั้ง การออกโฉนดต้นยาง เพื่อรับรองการมีอยู่ของต้นยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการขยายโอกาสแก่เกษตรกรให้เข้าถึงพื้นที่ทำกินซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายทำเกษตรยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม สอดคล้องกับกฎ EUDR
"การทำเกษตรโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกยางและผู้เกี่ยวข้องได้มี
ส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ของประเทศและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก สร้างความยั่งยืนให้ห่วงโซ่อุปทานยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกิดการยกระดับพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้มีความแข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน" ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า ครึ่งปีหลังสถานการณ์ราคายางยังคงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ขณะนี้ราคาจะปรับตัวลงมาบ้างแต่เป็นช่วงแคบๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของราคายาง โดยมีปัจจัยบวกที่จะมีผลต่อราคายาง
ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว สงครามทั้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์และรัสเซียกับยูเครนอยู่ในวงจำกัด การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ จะสูงถึง 17 ล้านคันเทียบกับ 14 ล้านคันในปี 2566 ซึ่งยางล้อสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากกว่ายางล้อรถยนต์ทั่วไป
"ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนจำกัด แม้จะเป็นช่วงฤดูกาลเปิดกรีดแล้วก็ตาม แต่สภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตยางลดลง ซึ่งจะทำให้ราคายางในครึ่งปีหลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเสถียรภาพ" ผู้ว่าการ กยท.กล่าว
นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อราคายางโดยตรงคือ การบังคับใช้กฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป(EU) ในเดือนธันวาคม 2567 ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป จะทำให้ยางพาราของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ยางพาราจากประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกยางของโลกเท่านั้น ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามกฎระเบียบ EUDR ได้
“ตลาด EU มีความต้องการใช้ยางพาราประมาณปีละ 4 ล้านตัน แต่ในปัจจุบันมีเพียงประเทศไทย และประเทศไอวอรีโคสต์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ในแอฟริกา ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาตามกฎระเบียบ EUDR ได้ โดยมีปริมาณยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ประมาณ 1-1.5 ล้านตัน ในขณะที่ประเทศไทยสิ้นปีนี้จะมียางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น” ผู้ว่าฯกยท.กล่าว
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรม กยท.กล่าวว่า ได้สั่งการ กยท.ให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมายEUDRเป็นกรณีพิเศษ ให้กำหนดเป็นนโยบายที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราใน EU ได้เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง แม้จะไม่ใช่ตลาดหลักของไทย
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาส่งออกไป EU มีมูลค่าประมาณ 401 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ14,500 ล้านบาท) จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 3,648 ล้านเหรียญสหรัฐ (132,000 ล้านบาท) คาดว่ากฎระเบียบ EUDR จะทำให้มูลค่ายางพาราที่ส่งออกไป EU มีราคาที่สูงกว่ายางทั่วไปไม่ต่ำกว่า 4-5 บาทต่อกิโลกรัม และยังจะช่วยดึงราคายางในตลาดทั่วไปขึ้นตามไปด้วย
สำหรับตลาดส่งออกยางพาราตลาดหลักของไทยคือ ประเทศจีนในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 51,000 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกเป็นวัตถุดิบ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางจาก โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ และที่สำคัญผลิตภัณฑ์จากยางดังกล่าว หากจะต้องส่งไปขายในตลาด EU จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาตามกฎระเบียบ EUDR เช่นเดียวกัน ดังนั้น จีน รวมทั้งประเทศคู่ค้าอื่นๆของไทยจำเป็นจะต้องซื้อยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ถึงจะสามารถส่งผลิตภัณฑ์นั้นๆไปขายใน EU ได้