‘พิชัย’ ชง ‘Thai ESG ใหม่’ เข้า ครม. ใน 2 สัปดาห์ มั่นใจฟื้นเชื่อมั่นตลาดหุ้น

‘พิชัย’ ชง ‘Thai ESG ใหม่’ เข้า ครม. ใน 2 สัปดาห์ มั่นใจฟื้นเชื่อมั่นตลาดหุ้น

‘คลัง’ เตรียมเสนอปรับเงื่อนไขกองทุน ‘Thai ESG’ เข้า ครม. ใน 2 สัปดาห์ มีผลลดหย่อนภาษีเงินได้ในปี 2567 แจงปรับ 3 ด้าน ขยายวงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท ลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี และเพิ่มนโยบายเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาล คาดรัฐสูญเสียรายได้ 1.3 หมื่นล้าน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG Fund) เพื่อส่งเสริมการออมผ่านการลงทุนในตลาดทุน สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน และกระตุ้นเม็ดเงินตลาดทุนในระยะยาว 

โดยจะมีการปรับเงื่อนไข 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การขยายวงเงิน ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ทุก 1 หมื่นล้าน จะส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) 25-27 จุด อีกทั้งจะเป็นทางเลือกในการออมให้กับกลุ่มคนอายุน้อย อาชีพอิสระ และกลุ่มคนที่ลงทุนในวงเงินเกษียณ เช่น RMF ไม่เต็มจำนวน

2.การปรับระยะถือครอง 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนอายุน้อย อาชีพอิสระที่รับความเสี่ยงการลงทุนในหลักทรัพย์ได้ แต่ต้องการสภาพคล่องสูงกว่า

3.การขยายนโยบายลงทุน ส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการที่สร้างความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในมิติที่ครอบคลุมมากขึ้นจากเดิมที่มุ่งเน้นกิจการที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ให้เพิ่มเติมด้านธรรมาภิบาล (Governance) และส่งเสริมความโปร่งใส ให้ข้อมูลเชิงมูลค่าประกอบการตัดสินใจมากขึ้น

"โดยคาดว่าภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์จะสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ครบ และเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติซึ่งจะมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ม.ค.2567 โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาหลังเปิดขาย 4-5 เดือนสุดท้าย ไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ Thai ESG ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการเพียง 1 เดือน และมีเม็ดเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท"    

นายพิชัย กล่าวต่อว่า จากเดิมที่มีการเสนอว่าจะมีการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อเป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นตลาดทุนนั้น พบว่ามีจุดอ่อนอยู่ในเรื่องระยะเวลาถือครองที่นานเกินไป และความเสี่ยงของหุ้นที่หลากหลาย 

ดังนั้นการเจาะจงการลงทุนในด้านความยั่งยืนจึงมองว่าจะเป็นเทรนด์อนาคตที่มีโอกาส และยังมีแนวโน้มในการเติบโตจากธุรกิจที่ยังมีขนาดกลาง และขนาดเล็ก อีกทั้งเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมการออมเงินที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้จริง

โดยคาดว่าการปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยการคำนวณจากฐานผู้เสียภาษีใช้สิทธิลดหย่อนเต็มเพดาน

นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะนำกองทุนรวมวายุภักษ์นำกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ 

ซึ่งที่ผ่านมากองทุนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และไม่เพียงพอในการจำหน่าย ซึ่งเดิมประชาชนทั่วไปจะต้องมาลงทุน ผ่านหน่วย ก (สำหรับประชาชนทั่วไป) ที่มีรายละเอียดคือ ได้รับผลตอบแทนตามจริงโดยมีขั้นต่ำต่อปี/ขั้นสูงต่อปี เป็นเวลา 10 ปี ได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วย ข (สำหรับกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น) ตามแนวชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น waterfall (ขั้นต่ำของผลตอบแทนการลงทุน) 

ทั้งนี้ แนวคิดการดำเนินการดังกล่าวยังต้องการดำเนินการในรูปแบบเดิมคือ มีการประกันขั้นต่ำของผลตอบแทน เช่น ประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% เป็นต้น หากผลตอบแทนต่ำกว่านั้น ก็ยังได้รับผลตอบแทนที่ 3% 

“ผมคิดว่าภาครัฐต้องสร้างอะไรขึ้นมา การสร้างหน่วยลงทุน ก็เป็นการสร้างการออมให้กับประเทศ เมื่อก่อนทำไว้ไม่พอจำหน่าย จึงมีความคิดเอากลับมา เป็นสัดส่วนการลงทุน แบ่งเป็น สัดส่วน 3.5 แสนล้านบาท และออกอีก 1.5 แสนล้านบาท รวม 2 กองเป็น 5 แสนล้านบาท เรากำลังพิจารณาเรื่องนี้”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์