จิบเบียร์เชียร์บอล ‘ยูโร 2024’ กระตุ้นเศรษฐกิจเยอรมนี 1 พันล้านยูโร

จิบเบียร์เชียร์บอล ‘ยูโร 2024’ กระตุ้นเศรษฐกิจเยอรมนี 1 พันล้านยูโร

ฟุตบอลยูโร 2024 ที่ประเทศเยอรมนี กำลังเข้มขึ้นทุกขณะหลังจากที่ใกล้จะจบรอบแรกแล้ว เราได้เห็นเกมสุดเดือดในสนามที่เร้าใจมากมายและอีกหลายนัดสุดดราม่าที่ตัดสินชะตากันในช่วงนาทีสุดท้าย

KEY

POINTS

Key Points

  • ชื่อว่าแข่งที่เยอรมนี แน่นอนว่าสำหรับแฟนลูกหนังแล้วจะเลี่ยงการจิบเบียร์แล้วเชียร์บอลไปได้อย่างไร ซึ่งธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความหวังค่อนข้างมากสำหรับรายการยูโรครั้งนี้
  • แต่ถึงฟุตบอลยูโรจะดูดีแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าการแข่งขันฟุตบอลรายการนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งได้ในชั่วข้ามคืน
  • การประเมินของสถาบัน IFO คือตัวเลขจีดีพีของเยอรมนีในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 จะเพิ่มขึ้นอีก 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเงินราว 1,000 ล้านยูโร (39,200 ล้านบาท)
  • ภาพลักษณ์ประเทศที่ถูกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็มที่จัดการแข่งขัน สิ่งนี้จะเป็นตัวส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะนำไปสู่รายได้อีกมากมายมหาศาลที่จะตามมาในอนาคต

พอจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฟุตบอลยูโรที่สนุกและเปี่ยมด้วยสีสันมากที่สุดครั้งหนึ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จในทางกีฬาเลย

แล้วในทางเศรษฐกิจ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลยูโรรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจเยอรมนีได้บ้างหรือไม่ และภาคส่วนใดที่พอจะมีความหวังบ้าง

ความหวังเล็กๆที่สำคัญ

จากจำนวนเกมทั้งหมด 51 นัด เจ้าภาพเยอรมนีเปิดจำหน่ายตั๋วฟุตบอลยูโรทั้งสิ้น 2.7 ล้านใบสำหรับเกมที่จะมีขึ้นใน 10 เมืองทั่วประเทศเยอรมนี ได้แก่ เบอร์ลิน, มิวนิค, โคโลญจน์, ดอร์ทมุนด์, ดุสเซิลดอร์ฟ, แฟรงค์เฟิร์ต, เกลเซนเคียร์เชน,​ฮัมบูร์ก, ไลป์ซิก และสตุ๊ตการ์ต

โดยที่ยังมีการประเมินจากการท่องเที่ยวแห่งเยอรมนี ว่านอกจากแฟนฟุตบอล 2.7 ล้านคนที่เสี่ยงโชคได้ตั๋วเข้าชมการแข่งขันแล้วจะมีแฟนฟุตบอลอีกมหาศาลกว่า 7 ล้านคนที่เดินทางมาเพื่อร่วมเชียร์ในบรรยากาศของการแข่งขันตามแฟนโซน หรือที่จัดให้มีการชมฟุตบอลในที่สาธารณะต่างๆ

ตัวเลขนี้คือความหวังสำหรับผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยในเยอรมนี

“ผู้คนมักจะตื่นตัวมากขึ้นเมื่อเดินทางท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น การไปรายการใหญ่ๆ การไปคอนเสิร์ตของศิลปินระดับนานาชาติ” นอร์เบิร์ต คุนซ์ ผู้อำนวยการจัดการของสมาคมการท่องเที่ยวเยอรมัน (DTV) กล่าว

“สำหรับปี 2024 น่าจะถือเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเยอรมนี ซึ่งต้องขอบคุณแฟนฟุตบอลผู้มีความมุ่งมั่นที่อยากจะมาสัมผัสประสบการณ์ในรายการนี้แบบสดๆ”

ทีนี้ขึ้นชื่อว่าแข่งที่เยอรมนี แน่นอนว่าสำหรับแฟนลูกหนังแล้วจะเลี่ยงการจิบเบียร์แล้วเชียร์บอลไปได้อย่างไร ซึ่งธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความหวังค่อนข้างมากสำหรับรายการยูโรครั้งนี้

“เราได้เห็นจากในอดีตว่ารายการฟุตบอลขนาดใหญ่นั้นจะมีปริมาณการดื่มเบียร์เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงฤดูร้อนปกติ” โฮลเกอร์ ไอเชล จากสมาคมผู้ผลิตเบียร์เยอรมัน ซึ่งอ้างอิงจากตัวเลขในปี 2006 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก มีการบริโภคเบียร์เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์จากปกติในช่วง 1 เดือนที่มีการแข่งขัน

ความหวังตรงนี้สำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการเนื่องจากในปี 2023 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสหาหกรรมการผลิตเบียร์ ยอดขายทั่วประเทศลดลงถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือการบริโภค 8.4 พันล้านลิตร ซึ่งตามข้อมูลของภาครัฐแล้วแนวโน้มในการบริโภคเบียร์ภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากเบียร์แล้วภาคการท่องเที่ยวก็คาดหวังว่าจะได้รับอานิสงก์ตามไปด้วย โดยเจ้าภาพยังคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม 600,000 คน และอีก 1.5 ล้านคนที่จะนอนพักข้ามคืนในระหว่างทัวร์นาเมนต์

ไม่มีดอกไม้ไฟในยูโร

แต่ถึงฟุตบอลยูโรจะดูดีแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าการแข่งขันฟุตบอลรายการนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งได้ในชั่วข้ามคืน

“ประสบการณ์จากฟุตบอลโลก 2006 แสดงให้เห็นแล้วว่ารายการกีฬาระดับใหญ่นั้นไม่ใช่ดอกไม้ไฟทางเศรษฐกิจ”​มิชาเอล โกรมลิง แห่งสถาบันเศรษฐกิจเยอรมัน (IW) กล่าว

เพราะถึงบรรยากาศในการเชียร์ฟุตบอลจะคึกคักปักกิ่งทั้งเดือน ก็ไม่ได้หมายความว่าแฟนฟุตบอลชาวเยอรมันจะยอมเสียเงินให้กับช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองทางเกมลูกหนังนี้ มากที่สุดก็แค่ซื้อโทรทัศน์ใหม่หรือตุนเบียร์ในตู้เย็นเพิ่มเท่านั้น

“พวกเขาเก็บเงินไปใช้ในส่วนอื่นแทน เช่น การกินไส้กรอก Bratwurst แทนที่จะเข้าร้านอาหาร ซื้อโทรทัศน์ใหม่แทนที่จะไปโรงหนัง” โกรมลิงกล่าวต่อ “ผลของมันคืออัตราการบริโภคนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนแค่เล็กน้อยเท่านั้น”

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank เชื่อว่าเศรษฐกิจจะซบเซาในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะนับรวมช่วงครึ่งแรกของการแข่งขันยูโร 2024 (เริ่มตั้งแต่ 14 มิถุนายน) หลังจากที่ในไตรมาสแรกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.2 เปอร์เซ็นต์

มากที่สุดที่คาดหวังได้จากฟุตบอลยูโรตามการประเมินของสถาบัน IFO คือตัวเลขจีดีพีของเยอรมนีในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 จะเพิ่มขึ้นอีก 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเงินราว 1,000 ล้านยูโร (39,200 ล้านบาท)

ตรงนี้เป็นตัวเลขที่ไม่ได้มากมายอะไรนัก โดยที่การ “บูม” ในเรื่องของการบริโภค การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการชมฟุตบอลและการท่องเที่ยวที่เป็นผลพลอยได้ของแฟนบอล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีตั๋วชมการแข่งขันที่สามารถเดินทางภายในเมืองได้ฟรี และซื้อตั๋วรถไฟระหว่างเมืองได้ในราคาถูก แต่เมื่อรายการจบในวันที่ 14 กรกฎาคม ทุกอย่างก็จะกลับไปสู่สภาวะปกติ

 

กำไรที่มองไม่เห็น

แต่ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากฟุตบอลยูโรนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น

ยังมีเรื่องของภาพลักษณ์ประเทศที่ถูกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็มที่จัดการแข่งขัน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะนำไปสู่รายได้อีกมากมายมหาศาลที่จะตามมาในอนาคต

“รายการกีฬาใหญ่ระดับนี้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศเจ้าภาพและช่วยให้บรรยากาศภายในประเทศดีขึ้น” โกรมลิงกล่าว

“ในเวลาเดียวกันเศรษฐกิจจะถูกกำหนดโดยความคาดหวังและอารมณ์ เรื่องของความรู้สึกที่ได้รับกลับจากช่วงมหกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้”

สำหรับเยอรมนี ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป ในยามที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติน้อยลงแบบนี้ มหกรรมลูกหนังอย่างฟุตบอลยูโรจึงถือเป็นตัวช่วยที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทีมเจ้าภาพเยอรมนี และทีมดังต่างๆ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลี เข้ารอบลึกๆได้ บรรยากาศก็จะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย

ส่วนสุดท้ายคือเรื่องของความทรงจำ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน ตรงนี้ไม่อาจประเมินค่าได้เลย

 

 

 

อ้างอิง