‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ รัฐเจรจา ธ.ก.ส. รับภาระ 3 หมื่นล้าน ชี้ไม่กระทบ เพดานหนี้ม.28

‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ รัฐเจรจา ธ.ก.ส. รับภาระ 3 หมื่นล้าน  ชี้ไม่กระทบ เพดานหนี้ม.28

รัฐบาลแจงมาตรการปุ๋ยคนละครึ่งให้ ธ.ก.ส.รับภาระโครงการก่อนเฉียด 3 หมื่นล้าน ก่อนทอยใช้หนี้คืนพร้อมอัตราดอกเบี้ย โฆษกรัฐบาลแจงไม่ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินหลังหนี้ม.28 แตะ 28.96% จากเพดาน 32% ระบุช่วยลดภาระงบประมาณลงได้กว่า 2.4 หมื่นล้านต่อปีเมื่อเทียบกับนโยบายปีก่อน

รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้ 3 เท่าภายใน 4 ปี โดยมีนโยบายด้านการเกษตรหลายเรื่องรวมถึงการลดต้นทุนการผลิตด้วยการให้ความช่วยสนับสนุนปัจจัยการผลิต ช่วยเหลือรายจ่ายค่าปุ๋ย รวมทั้งปรับปรุงระบบน้ำรวมไปถึงการป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงหลายครั้งและมีการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 มิ.ย.2567 มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง) ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง

เดินหน้าปุ๋ยคนละครึ่งตามมติ นบข.

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ามาตรการนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ที่เห็นชอบโครงการฯ และมอบหมายให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมการข้าว จัดทำข้อมูลเพื่อให้ ครม.เห็นชอบโครงการ และงบประมาณต่อไป

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศ

โดยประหยัดงบประมาณเมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมาได้ประมาณ 2.43 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณในส่วนนี้ไปกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้มีการให้ข้อมูลกับเกษตรกรทั่วประเทศในเรื่องนี้แล้ว โดยเกษตรกรมีความพอใจในมาตรการนี้เนื่องจากในรอบที่ผ่านมาเงินไม่ได้ลงถึงมือเกษตรกรทั้งหมดแต่ไปอยู่กับเจ้าของที่ดิน

สนับสนุนเกษตรกร 4.68 ล้านราย

โดยโครงการนี้มีวงเงินในการดำเนินโครงการ 29,980.17 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อนแล้วรัฐบาลจะจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส.ภายหลังพร้อมดอกเบี้ย

ยันไม่เกินเพดานหนี้มาตรา 28 

ทั้งนี้โครงการนี้เป็นการดำเนินการโดยใช้กรอบวงเงินมาตรการ/โครงการช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรา28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งหลังจากที่ดำเนินโครงการนี้แล้วภาระหนี้ต่องบประมาณมาตรา 28 จะอยู่ที่ 28.96% ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ที่อยู่ที่ 32% จึงไม่กระทบเพดานหนี้ในส่วนนี้และหลังจากนี้ ธ.ก.ส.ก็จะได้รับการชดเชยงบประมาณเพิ่มเติมเป็นระยะๆ

 

ชี้ลดภาระงบฯ 2.43 หมื่นล้าน

ทั้งนี้โครงการนี้จะสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (เกษตรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร)

ทั้งนี้ ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568