'ปตท.' ลุยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานหนุนองค์กรเติบโตยั่งยืน

'ปตท.' ลุยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานหนุนองค์กรเติบโตยั่งยืน

"ปตท." เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ผ่าน 5 แนวทาง “หาพันธมิตรยกระดับธุรกิจ - หาโอกาสในธุรกิจใหม่ - บูรณาการความยั่งยืนกับธุรกิจ - สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เป็นเลิศ - นำ AI มาใช้ - บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส” หนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

 นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา Investment Forum 2024 เจาะขุมทรัพย์ลงทุนยุคโลกเดือด ในหัวข้อ “กลยุทธ์ธุรกิจก้าวข้ามวิกฤติ เบ่งกำไร” ที่จัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจะต้องรู้ก่อนว่าเผชิญกับความท้าทายอะไรอยู่ และมีวิธีการรับมืออย่างไร และพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

\'ปตท.\' ลุยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานหนุนองค์กรเติบโตยั่งยืน

สำหรับความท้าทายของกลุ่ม ปตท. ในระดับโลก ได้แก่ 1.Global Energy Transition 2.Net Zero 3.Carbon Tax ต่างประเทศเริ่มใช้แล้ว ขณะที่ในไทย อยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4.ESG 5.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลราคาพลังงานผันผวน 6.AI มีการนำมาใช้มากขึ้นทั้งในอุตสาหกรรม และนำ AI มาต่อยอดธุรกิจของ ปตท. 

ส่วนความท้าทายในระดับประเทศ ได้แก่ การรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 2.แผนนโยบายของประเทศที่ส่งเสริม พลังงานสะอาด (Clean Energy) มากขึ้น และ 3.นโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการดูแลราคาพลังงาน การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติเต็มรูปแบบ มาตรการ EV และการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ 

ทั้งนี้ ปตท.พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสร้างความมั่นคง และเติบโตตลอดกว่า 45 ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ ปตท. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2544 หรือ 23 ปีที่แล้ว สามารถสร้างการเติบโตรายได้ และกำไรสุทธิต่อเนื่อง เฉลี่ยกำไรสุทธิเติบโต 7% ต่อปี และการเติบโตเริ่มขยายผ่านบริษัทในกลุ่มค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ 7 บริษัท 

ทางด้านวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ ปตท. ประกอบด้วย 1.บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ โดยสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร, สร้างความมั่นคงทางพลังงาน, สร้างการเติบโตควบคู่กับการลด GHG เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero, ธุรกิจต้องมีกำไรแต่เป็นกำไรที่เหมาะสมได้ยิ่งดีไม่งั้นต้องได้ระยะสั้น, ต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทยช่วยสังคมไทยและ SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

2.การลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ โดยต้องมีความคล่องตัว มี Agility ทันต่อสถานการณ์โลกที่ผันผวน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว, ธุรกิจใดที่ดีต้องเร่งต่อยอดขยายผล, ธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ Preform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว 

\'ปตท.\' ลุยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานหนุนองค์กรเติบโตยั่งยืน

3.สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน โดยการทำธุรกิจ และการบริหารจัดการต้องโปร่งใส, ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง, การสื่อสารต้องจริงใจ ชัดเจน เข้าถึงง่ายและเข้าใจง่าย

และ 4.สร้างพลังความร่วมมือ โดย ปตท. มีบุคลากรที่เก่งมีความรู้ความสามารถ, สร้างพลังให้เกิดความร่วมมือ สร้าง Synergy และใช้พลังในกลุ่ม ปตท. สร้าง Leverage ทางธุรกิจ 

จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว นำมากำหนดทิศทาง และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ที่จะมุ่งเน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ผ่าน 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในปัจจุบัน หาพันธมิตรธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยผสานความชำนาญของ ปตท. กับความแข็งแกร่งของพันธมิตร พร้อมต่อยอดการเติบโต 2.หาโอกาสในธุรกิจใหม่  

3.การบูรณาการแนวทางความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจ 4.สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เป็นเลิศ โดยในปีที่ผ่านมา สามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 10,000 ล้านบาท และสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน นำเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาใช้ 5.บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และมีความเป็นเลิศทางการเงิน 

ทั้งนี้ ธุรกิจหลักของ ปตท. ยังเป็นธุรกิจ Hydrocarbon ส่วนการขยาย Non-Hydrocarbon กลยุทธ์ที่ทำเรื่อง EV, Life Science&Healthcare, Digital สอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก รวมทั้งดูนโยบายรัฐว่าจะส่งเสริมไปทางใด พร้อมทั้งปรับตัวอย่างรวดเร็ว และให้ตอบแทนที่ดีต่อ ปตท. และประเทศไทย เพื่อเติบโตแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน 

\'ปตท.\' ลุยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานหนุนองค์กรเติบโตยั่งยืน

สำหรับการรับมือกับราคาน้ำมันที่ผันผวน ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมราคาน้ำมันได้ เพราะเคลื่อนไหวไปตามราคาโลก สิ่งที่พอจะทำได้ คือ การชะลอการปรับขึ้นราคา โดยในส่วนของน้ำมัน ต้องเน้นการรณรงค์ให้ใช้อย่างประหยัด ขณะที่ก๊าซธรรมชาติ ต้องหาแหล่งน้ำเข้าที่ราคาดี 

ขณะเดียวกัน เราต้องปรับตัว เพราะโลกขับเคลื่อนไปสู่พลังงานสะอาด โดยกระจายการลงทุนไปยัง New Energy อย่าง EV Renewable ไฮโดรเจน และแบตเตอรี่ รวมไปถึง New Business เช่น ไลฟ์สไตล์ โลจิสติกส์ โดยตั้งเป้าสัดส่วนธุรกิจ New Energy และ New Business ที่ 30% ภายในปี 2030

นอกจากนี้ อยากให้มีการตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทย เพราะประเทศไทยบริโภคยาที่ค่อนข้างแพง จากการที่ต้องนำเข้ายา ถ้าผลิตในประเทศ และขายให้ประชาชนในราคาที่ถูก ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของ ปตท. ด้วยเช่นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์