เปิดเหตุผล ปั๊ม NGV ปิดกิจการ 15 ปี 'ปตท.' รับภาระ 1.5 แสนล้าน

เปิดเหตุผล ปั๊ม NGV ปิดกิจการ 15 ปี 'ปตท.' รับภาระ 1.5 แสนล้าน

เปิดสาเหตุปั๊ม "NGV" ต้องปิดกิจการลงเกือบครึ่ง "พลังงาน" เผย ส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่ร่วมธุรกิจประสบปัญหาตามภาวะเศรษฐกิจและนำพื้นที่ใช้ประโยชน์ในธุรกิจอื่นแทน หลังต้นทุนไม่คุ้มกับกิจการ ขณะที่ "ปตท." ต้องรับภาระกว่า 1.5 แสนล้านบาท

KEY

POINTS

  • ต้นทุนการดำเนินธุรกิจ NGV สูงขึ้น ไม่คุ้มกับรายได้ ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุน หันไปใช้พื้นที่ทำธุรกิจอื่นที่มีรายได้มากกว่า
  • ปัจจุบันประเทศไทยมีปั๊ม NGV เหลืออยู่ประมาณ 296 แห่ง จากเดิมที่มีมากกว่า 500 แห่ง ปตท. ยังคงให้บริการ NGV อยู่ แต่มีการปรับขนาดธุรกิจลง
  • ปตท. ทำธุรกิจ NGV กว่า 15 ปี ตามนโยบายภาครัฐ หากคิดเป็นมูลค่าที่สนับสนุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท จึงต้องปรับการดำเนินธุรกิจหารายได้เพิ่มตามเทรนด์โลก 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV ก็เพื่อเป็นทางเลือก ให้กับประชาชนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง โดย NGV ถูกตรึงราคาเอาไว้ในระดับเฉลี่ย 8 บาทต่อกิโลกรัม จนปัจจุบันอยู่ระดับเฉลี่ย 20 บาทต่อถังกิโลกรัม และให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ช่วยแบกรับภาระให้มาโดยตลอด 

ทั้งนี้ เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมา และมีการส่งเสริมไบโอดีเซล รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีความเข้าใจในปัญหา จึงมีนโยบายที่จะทยอยให้มีการปรับราคา NGV ให้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น และเป็นการช่วยลดภาระของ ปตท.ลง ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ยังคงช่วยแบกรับภาระให้เฉพาะส่วนของผู้ใช้ที่เป็นกลุ่ม รถโดยสารสาธารณะ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) 

นอกจากนี้ ปตท. ได้เปิดลงทะเบียนบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ปตท. แก่ผู้ถือบัตรรายใหม่ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของรถแท็กซี่ หรือนิติบุคคล รถในนามสหกรณ์ ในกลุ่มสมัครใหม่ ส่วนกลุ่มที่มีบัตรแล้ว ผู้ถือบัตรรายเดิมไม่ต้องดำเนินการใดๆ สามารถใช้บัตรต่อไปได้ตามปกติ

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ NGV สำหรับรถแท็กซี่ ผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์จะสามารถเติมก๊าซ NGV ในราคา 14.62 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 30 มิ.ย. 2567 จากนั้นเติมก๊าซ NGV ในราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่ 1 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2568 พร้อมเพิ่มวงเงินซื้อก๊าซ NGV จากเดิม 10,000 บาทต่อเดือนต่อคัน เป็น 12,000 บาทต่อเดือนต่อคัน 

ในขณะที่ รถทั่วไป ราคาจำหน่ายก๊าซ NGV จะอยู่ที่ 19.59 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 พ.ค. 2567 หลังจากนั้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV จะเป็นไปตามโครงสร้างราคา

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในช่วงที่มีการส่งเสริมให้ใช้ NGV นั้น ปตท. มีปั๊ม NGV ทั้งหมดอยู่ 513 แห่ง แต่ด้วยเศรษฐกิจและโครงสร้างประเทศที่เปลี่ยนไป เนื่องจากบางสถานีเป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินธุรกิจ และเมื่อต้นทุนที่สูงขึ้น มีการพัฒนาพื้นที่มีราคาเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงตัดสินใจไม่ดำเนินธุรกิจ NGV ต่อ จากเดิมอาจจะมีรายได้เดือนละหลัก 1 แสนบาทเหลือระดับ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน จึงนำพื้นที่ไปทำธุรกิจอื่นเพื่อสร้างรายได้ต่อไป

ทั้งนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีการปิดปั๊ม NGV ไปแล้ว 217 สถานี จึงยังคงเหลือปั๊ม NGV อยู่ที่ 296 สถานี โดยเฉพาะที่เหลือจะเป็นปั๊มที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติโดยส่วนใหญ่จะเป็นปั๊มของ ปตท. โดยการทำปั๊ม NGV เฉพาะแนวท่อก๊าซฯ จะมีความคุ้มค่าและช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งก๊าซฯ ทางรถลงได้มาก ซึ่งปัจจุบัน ปตท. เองก็ได้ลดขนาดธุรกิจ NGV ลงเพื่อเน้นหารายได้และกำไรเพิ่มจากธุรกิจที่ไม่ใช่ NGVภายในปั๊ม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

"ปตท. ทำธุรกิจ NGV มากว่า 15 ปี ตามนโยบายภาครัฐที่ดำเนนธุรกิจเคียงคู่กับชุมชนและคนไทย จะเห็นว่าที่ผ่านมาได้ดูแลประชาชนและตรึงราคาก๊าซ NGV เพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง หากคิดเป็นมูลค่าที่ช่วยรับภาระไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้น ปตท.จึงต้องได้ปรับการดำเนินธุรกิจหารายได้เพิ่มตามเทรนด์โลก เพราะไม่ให้กระทบต่อต้นทุนในส่วนนี้" แหล่งข่าว กล่าว