ถอดบทเรียนเพื่อนบ้านชิงสิทธิจัดแข่งรถ“F1” ความคุ้มค่าเทียบราคาจ่าย

ถอดบทเรียนเพื่อนบ้านชิงสิทธิจัดแข่งรถ“F1” ความคุ้มค่าเทียบราคาจ่าย

เมื่อเร็วๆนี้เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ศึกษาดูเส้นทางการแข่งขันรถสูตร 1 หรือ Formula One หรือ F1บริเวณเขาพระตำหนัก อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ผู้เข้าชิงหน้าใหม่อย่างไทย กำลังจะลงสนามการแข่งขันที่ต้องใช้เงินเดิมพันที่สูงมาก ซึ่งมาเลเซียก็ต้องยกธงขาวไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่สิงคโปร์ก็ไม่ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันที่ราบรื่นนัก เนื่องจาก มีการตรวจสอบพบการทุจริตการนำการแข่งขัน Formula 1 Grand Prixมาที่สิงคโปร์ โดยนักธุรกิจโรงแรมชื่อดัง ซึ่งข้อมูลชี้ว่ามีการจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่ออำนวยความสะดวกการทุจริตครั้งนี้เกือบ 834,000 ดอลลาร์ แม้ว่ากรณีการทุจริตจะเกิดขึ้นน้อยและยากมากในสิงคโปร์ แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นแล้วและไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการแข่งขัน F1 แต่ก็ต้องมองเป็นข้อเตือนใจอย่างหนึ่งที่ต้องพึงระวังไว้

ล่าสุดมีกระแสข่าว ว่า  “ปิโตรนัส”บริษัทพลังงานแห่งชาติมาเลเซีย มีแผนที่จะนำการแข่งขันรถสูตร 1 หรือ  Formula One หรือ F1 กลับไปยังสนาม  Sepang International Circuit (SIC) ในปี 2569  หลังจาก Malaysian Grand Prix จัดขึ้นที่สนามแข่งแห่งนี้ระหว่างปี 1999 ถึง 2017 แต่ต้องหลุดออกจากปฏิทินการแข่งขันเนื่องจากจำนวนผู้ชมที่ลดลงและค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันที่สูงขึ้น

“หากประสบความสำเร็จ Formula One จะกลับมาที่ SIC หลังจากหายไปนาน 9 ปี ในระหว่างนั้นสนามแห่งนี้ยังคงเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน MotoGP และรายการมอเตอร์สปอร์ตรายการอื่นๆ"

อย่างไรก็ตาม ปิโตรนัส ไม่ได้ทิ้งวงการF1 ไปเสียทีเดียว เพราะ ปิโตรนัสยังเป็นหุ้นส่วนระยะยาวกับ Mercedes ซึ่งเริ่มต้นเมื่อทีมเข้าสู่ซีรีส์ในปี 2010 ภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 75 ล้านดอลลาร์ต่อปี ไปถึงปี 2026

ท่ามกลางกระแสข่าวนี้ ฮันนาห์ โหยว รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาของมาเลเซีย ระบุว่า คง “เป็นไปไม่ได้เลย” ที่มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟอร์มูล่าวันอีกครั้ง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างสูง     

 ไม่เพียงการแข่งขันของรถสูตรหนึ่งในสนามแข่งเท่านั้นที่ดุเดือดแต่การแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพจากประเทศต่างๆก็ดุเดือดไม่แพ้กัน ปัจจุบันมีรายงานว่าอย่างน้อยก็ไทยแล้วหนึ่ง นอกนั้นก็ยังมีเมืองใหญ่อย่างโอซาก้า ที่ประกาศจะเป็นเจ้าภาพทั้งที่ญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในสนามแข่งแห่งปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ทิศทางการจัดแข่งขันของ F1 กำลังมุ่งไปที่การแข่งขันบนท้องถนน มากกว่าที่จะเป็นสนามแข่งขันเฉพาะ

หันมาฟากสิงคโปร์ แม้การแข่งขันยังคงดำเนินต่อไป แต่สิงคโปร์ก็ต้องเผชิญค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันสูงมาก แต่เมื่อเทียบกับการบรรจุชื่อประเทศไว้ในตารางการแข่งขันประจำปี ที่มีแต่เมืองใหญ่ๆ ในระดับลักซูรีเรียงแถวรอให้นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักไปเยือนก็ถือว่าคุ้มค่า ลองมาดูรายได้เบื้องต้นที่เจ้าภาพF1 น่าจะได้รับ

จากการสำรวจราคาค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันที่ประกาศขายในเวบไซด์ทางการของF1 และตัวแทนจำหน่ายที่บวกเพิ่มค่าบริการต่างๆ เช่น ไกด์นำทาง หรือกิจกรรมเสริม เช่น การถ่ายรูปกับรถแข่ง หรือ กิจกรรมหลังการแข่งขันอื่นๆ ประเมินว่า ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท ต่อการาแข่งขันเฉลี่ย 3  วัน ทั้งนี้ไม่รวมที่พัก หรือ กิจกรรมไลฟ์สไตล์อื่น

ส่วนราคาค่าตั๋วเจ้าภาพอย่าง F1 China GP (กรังด์ปรีซ์) 2024 ที่เซี่ยงไฮ้ สนมราคาตั๋วเข้าชมที่ ประมาณ 1.7 หมื่นบาท เพื่อเข้าชมการแข่งขัน ช่วงเม.ย.ที่ผ่านมา  ไม่ต่างกันมากนักกับการแข่งขัน FIA F1 World Championship Series Japan Grand Prix ปี 2024 ที่ ซูซูกิ เซอร์กิต(Suzuka Circuit )เม.ย.เช่นกัน ราคาตั๋ว 3 วัน ประมาณ 10,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรายได้นี้ดูจะต่างจากที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาประเมินไว้ค่อยข้างมาก โดยเมื่อครั้งเดินทางเยี่ยมชมสนามแข่งรถ Autodromo Enzo e Dino Ferrari ที่เมืองโบโลญญา พร้อมพบกับผู้บริหารสนาม โดยทางรัฐบาลต้องการจัดให้มีการแข่งขันFormula1ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว 

ในโอกาสนั้น ผู้บริหารบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ได้รับการทำสัมปทานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีที่ดินอยู่บริเวณดังกล่าวจำนวนมาก หากได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสนามแข่งขัน ก็จะใช้ที่ดินบริเวณอู่ตะเภารัฐบาลจึงให้ความมั่นใจ ว่าไทยมีความพร้อมในการสร้างสนามแข่งขันอย่างเร็วที่สุด ในปี 2027 หรืออย่างช้าที่สุดปี 2028 

“จากที่สังเกตเห็นในสนามตั๋วเข้าชมระดับวีไอพี ต่อคนราคาประมาณ 5,000-8,000 ดอลลาร์ หรือ มากกว่า 1.5 แสนบาทและยังมีรายได้จากช่องทางอื่น ทั้งผู้สนับสนุนหรือการเปิดบูธขายอาหาร”

ด้านรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สเตฟาโน โดเมนิกาลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Formula One Group ได้เดินทางเข้าพบนายกรับมนตรี  เมื่อ22 เม.ย.2567  เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของการจัดการแข่งขัน Formula One (F1) ในประเทศไทย ซึ่งหากผลออกมาว่าจะมีการจัดในไทยจริงๆการจัดงานต้องใช้เวลาเตรียมตัว 3 ปี

โดยคณะจัดงานเล็งเป้าไว้ให้เกิดขึ้นในปี 2027 ทั้งนี้หากการจัดงานประสบผลสำเร็จ อาจนำไปสู่การจัดงานในทุกปีในประเทศไทยได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ไทยเป็นหนึ่งในเจ้าภาพหลักของการจัดงานที่ใหญ่ระดับโลก อย่างต่อเนื่อง

​ จากการประมาณ​การ​การจัดการแข่งขัน Formula One​ จะดึงดูนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ถึง​ 300,000 คน​ สร้างรายได้ให้ประเทศได้ถึง​ 12,000 ล้านบาท​ ที่นำไปสู่การจัดเก็บรายได้เข้าสู่ระบบภาษีได้ถึง​ 280 ล้านบาท นอกจากนี้​ยังประมาณการได้ว่าจะสร้างการจ้างงานได้ถึง​ 6,000 กว่าตำแหน่งอีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมในหลายด้าน​ ทั้งเรื่องเดินทาง​ มีโรงแรมและภาคบริการที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว​ มีมาตรการ​ผ่อนปรนวีซ่าให้กว่า​ 64​ ประเทศ​ ดังนั้นขอชวนพี่น้องคนไทยให้มาตื่นเต้น​ ลุ้น​และเชียร์​ไปด้วยกันกับความเป็นไปได้ครั้งนี้

ข้อมูลจากStatistista  ระบุว่า โดยเจ้าภาพF1 รายล่าสุดคืออาเซอร์ไบจาน ต้องจ่ายค่าสิทธิการเป็นเจ้าภาพมูลค่า 57 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 พันล้านบาทต่อไป ซึ่งสูงที่สุด เมื่อเทียบกับเจ้าภาพก่อนหน้า อย่างซาอุดีอาระเบียที่ 55 ล้านดอลลาร์ กาตาร์ ที่ 55 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 35 ล้านดอลลาร์ และ สนามคลาสสิคอย่างโมนาโก อยู่ที่ 20 ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ดังนั้น หากไทยจะเป็นเจ้าภาพคาดว่ามูลค่าสิทธิอาจมากกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งการยืนระยะการจัดแข่งขันให้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นอีกความท้าทายที่มากกว่าแค่การคว้าสิทธิการเป็นเจ้าภาพ แต่ทั้งหลายทั้งปวงก่อนจะลงสนามแข่งขันใดต้องสำรวจขีดความสามารถตัวเองให้ถ้วนถี่และเปรียบเทียบว่าเพื่อน หรือข้างบ้านทำอย่างไรและทำไมจึงประสบความสำเร็จ หรือ ไม่ประสบความสำเร็จ บทเรียนมีไว้ให้เรียนรู้ก็หวังว่า การท่องเที่ยวไทยจะมี F1 มาเสริมเสน่ห์และรายได้จากนี้ไปได้สำเร็จ 

ถอดบทเรียนเพื่อนบ้านชิงสิทธิจัดแข่งรถ“F1” ความคุ้มค่าเทียบราคาจ่าย