เหลียวหลัง แลหน้าพัฒนา 'ภูเก็ต' ยุคเหมืองแร่ - สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

เหลียวหลัง แลหน้าพัฒนา 'ภูเก็ต' ยุคเหมืองแร่ - สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

กว่าจะมาเป็นเกาะท่องเที่ยว world class อันดับต้นๆของโลก "ภูเก็ต" มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ จากเหมืองแร่ดีบุก กลายเป็นเกาะที่เป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์เจมส์บอนด์ จนมาเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่ต้องวางทิศทางท่องเที่ยวในอนาคตอย่างถูกต้องและยั่งยืน

เกาะภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ World Class ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก ปัจจุบันภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ก่อนจะเกิดวิกฤติ โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนภูเก็ตกว่า 14 ล้านคน แม้ว่าในปี 2566 นักท่องเที่ยวจะมาเยือนภูเก็ตน้อยกว่าเดิมคือประมาณ 9 ล้านคนแต่ก็ทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งเท่ากับว่านักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงในกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตมากขึ้น

ล่าสุดเว็บไซต์ bounce เผยผลการจัดอันดับเกาะท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก (The best island destinations) ประจำปี 2567 โดย “ภูเก็ต” ประเทศไทย คว้าอันดับหนึ่งมาครองได้ด้วยคะแนนเต็มสิบ จากปัจจัยความสวยงามของธรรมชาติ ความหลากหลายของชาดหาด กิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว ราคาที่พัก ราคาเครื่องดื่ม และด้านสภาพอากาศและอุณหภูมิที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

แม้ชื่อเสียงของภูเก็ตในเรื่องของการท่องเที่ยวจะโดดเด่น แต่จริงๆแล้วความน่าสนใจของภูเก็ตมีมากกว่าการท่องเที่ยว แต่ในแง่ของประวัติความเป็นมาของภูเก็ตจากจังหวัดที่มีรายได้สูงจากเหมืองแร่ดีบุก จนมาเป็นที่โด่งดังจากการตั้งกองถ่ายภาพยนตร์เจมส์บอนด์ มาจนถึงการท่องเที่ยวระดับโลกในปัจจุบันล้วนมีเรื่องราวที่มีความน่าสนใจ

เหลียวหลัง แลหน้าพัฒนา \'ภูเก็ต\' ยุคเหมืองแร่ - สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

 “คุณวิจิตร ณ ระนอง” กรรมการผู้จัดการ "The Slate"  ในฐานะผู้ก่อตั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ถ่ายทอดเรื่องราวของภูเก็ตในหลายแง่มุม

จากเหมืองแร่ไปสู่เกาะท่องเที่ยวระดับโลก

“เหมืองแร่คือชีวิตที่ 1 ของภูเก็ต”

คุณวิจิตรเล่าว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่กว่า 550 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ เศรษฐกิจของภูเก็ตในอดีตก่อนที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวนั้นเติบโตมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกมาก่อน

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต เก็บรักษาเรื่องราวเกี่ยวก้บการทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตตั้งแต่อดีต ในยุคสมัยหนึ่งภูเก็ตเคยเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) สูงที่สุดของไทยจากการส่งออกแร่ดีบุกไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งตระกูลของคุณวิจิตรก็มีการทำเหมืองแร่ดีบุกมาตั้งแต่ยุคคุณปู่และคุณตา แต่การที่ตนเองเริ่มมาบุกเบิกธุรกิจท่องเที่ยวนั้นมาจากแนวความคิดที่ต้องการจะกระจายความเสี่ยง (diversify) ในการทำธุรกิจ โดยก่อนจะทำธุรกิจโรงแรมนั้นก็เริ่มทำธุรกิจโรงภาพยนตร์มาก่อน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “อาณาจักรธุรกิจเพิร์ล กรุ๊ป”

นอกจากโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในภูเก็ต และมีสนามโบว์ลิ่งซึ่งถือว่าเป็นแหล่งบันเทิงของภูเก็ตในขณะนั้น ต่อจึงมีการสร้างโรงแรมขึ้นหลังจากธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเติบโต

เบื้องหลังดึงเจมส์บอนด์มาตั้งกองถ่าย 

แต่เดิมนั้นภูเก็ตเป็นเมืองปิดยังไม่ปรากฏบนแผนที่การท่องเที่ยวของโลก แต่จุดสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักภูเก็ตและทะเลแถบอันดามันของประเทศไทยมากขึ้น คุณวิจิตรเล่าว่ามาจากภาพยนตร์ระดับโลกเรื่องหนึ่งที่มาถ่ายทำในประเทศไทยคือภาพยนตร์เรื่อง "เจมส์บอนด์ 007" ในภาค "เพชฌฆาตปืนทอง " หรือ “The Man with the Golden Gun”   แม้ว่าสถานที่ (Location) หลักของภาพยนตร์เรื่องนี้จะถ่ายทำที่เขาพิงกัน จ.พังงา แต่การที่กองถ่ายทำภาพยนตร์เข้ามาทำงานพักอยู่ในเกาะภูเก็ต และมีสื่อมวลชนต่างชาติเข้ามาดูสถานที่ถ่ายทำด้วยก็ทำให้ภูเก็ตนั้นกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวในยุโรปและสหรัฐฯเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันมากขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  

เบื้องหลังการที่ภาพยนตร์ระดับโลกเรื่องนี้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายคุณวิจิตรเล่าย้อนความทรงจำว่า หลังจากที่ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ในภูเก็ตก็ได้เดินทางไปเช่าฟิมล์ภาพยนตร์มาฉายทำให้ได้รู้จักกับผู้จัดการบริษัท ยูไนเต็ดอาร์ตติส ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เจมส์บอนด์ในขณะนั้น

คุณวิจิตรขอให้ผู้จัดการบริษัทนี้ซึ่งสนิทสนมเป็นเพื่อนกันเขียนจดหมายถึงผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เจมส์บอนด์ให้มาดูสถานที่ที่สวยงามของทะเลแถบนี้เพราะมั่นใจว่าเป็นโลเกชั่นที่สวยงามเหมาะกับการถ่ายภาพยนตร์ระดับโลก

เหลียวหลัง แลหน้าพัฒนา \'ภูเก็ต\' ยุคเหมืองแร่ - สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

เมื่อจดหมายถึงมือ อัลเบิร์ต โรโมโล บร็อคโคลี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เจมส์บอนด์ในขณะนั้น เขาได้ตัดสินใจแวะมาที่ภูเก็ตก่อนที่จะไปธุระที่สิงคโปร์ โดยบอกว่ามีเวลามาแค่ 1 วัน แต่เมื่อมาถึงภูเก็ตแล้วคุณวิจิตรและทีมงานได้พาไปดูสถานที่ทะเลเบริเวณเขาพิงกัน ซึ่งเสน่ห์และความสวยงามของสถานที่ทำให้  บร็อคโคลียกเลิกนัดที่สิงคโปร์และอยู่เก็บภาพสถานที่ถ่ายทำอยู่นานถึง 3 วัน ก่อนกลับไปประชุมกับทีมสร้างภาพยนตร์ที่อังกฤษแล้วส่งจดหมายกลับมาบอกว่าได้เลือกโลเกชั่นที่นี่เป็นสถานที่ถ่ายทำ ภูเก็ตและพังงาจึงมีโอกาสต้อนรับกองถ่ายระดับโลก และสื่อมวลชนต่างประเทศจากหลายสำนัก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่คำว่าภูเก็ตเป็นที่รู้จักแพร่หลายในยุโรป และเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายนักท่องเที่ยวก็มาท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ในเรื่องนี้ 

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์ตอนเพชรฆาตมือทอง

แม้จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งแต่ในอดีตเมื่อ   50 - 60 ปีที่ผ่านมาการเดินทางมายังภูเก็ตไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกับในปัจจุบันต้องเดินทางมาทางเครื่องบินซึ่งยังมีเที่ยวบินมาน้อยมาก มีเพียงเครื่องบินจากบริษัทเดินอากาศไทย (บดท.) เป็นเครื่องบินใบพัดแบบปีกสองชั้น ใช้เวลาเดินทางจากกทม. 6 – 7 ชั่วโมง

ต่อมาในช่วงปี 2500 ต้นๆ เครื่องบินที่ใช้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ดาโกต้า รับผู้โดยสารได้ 40 ที่นั่ง แต่ก็ยังใช้เวลาบินมาถึงภูเก็ตกว่า 2-3 ชั่วโมง สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี บดท.ซื้อเครื่องบินไอพ่น มาให้บริการในเส้นทางบินกรุงเทพ-ภูเก็ต ต่อมาการบินไทยได้ควบรวมกับ บดท.ทำให้มีเที่ยวบินเดินทางมายังภูเก็ตมากขึ้น

ส่องอนาคตท่องเที่ยวภูเก็ต

คุณวิจิตรยังบอกว่าก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 14 ล้านคนต่อปี มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนภูเก็ตประมาณ 9 ล้านคน แต่รายได้จากการท่องเที่ยวก็อยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาทเช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่านักท่องเที่ยวเข้ามาไม่มากเท่าเดิมแต่รายได้จากการท่องเที่ยวยังเท่าเดิม ซึ่งถือว่าภูเก็ตประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะดึงเอานักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นต้นแบบที่จะพูดถึงการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป

เหลียวหลัง แลหน้าพัฒนา \'ภูเก็ต\' ยุคเหมืองแร่ - สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

“การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมีความสำคัญกับพื้นที่การท่องเที่ยวที่เป็นเกาะแบบภูเก็ต เพราะใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสถานที่ และใช้ทรัพยากรในการดูแลการท่องเที่ยวน้อยกว่าแต่สามารถสร้างรายได้ได้มากซึ่งเท่ากับว่าช่วยสร้างความยั่งยืนในการท่องเที่ยวได้ เพราะในระยะยาวเราไม่สามารถใช้ปริมาณนักท่องเที่ยวมาเป็นตัวชี้วัดการท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ เพราะการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะนั้นมีความเปราะบางของธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องการท่องเที่ยวที่เป็น Mass Tourism จึงไม่เหมาะสม ซึ่งการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้นจะแตกต่างกับการท่องเที่ยใน กทม.ที่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมือง”

ไม่เห็นด้วยมีสนามบินแห่งที่ 2 ในภูเก็ต

สำหรับมุมมองในเรื่องการสร้างสาธารณูปโภคเพิ่มเติมในภูเก็ตทั้งสนามบินแห่งที่ 2 และโครงการทางด่วนตามนโยบายรัฐบาล คุณวิจิตร มองว่าเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในส่วนที่เกี่ยวกับถนน การจัดการน้ำ โรงบำบัดน้ำเสีย นั้นมีความจำเป็นเพราะจำนวนประชากรในภูเก็ตนั้นมีมากจากที่เมื่อ 60 – 70 ปีก่อนประชากรบนเกาะภูเก็ต  60 – 70 ปีก่อนประชากรบนเกาะภูเก็ตของภูเก็ตนั้นมีเพียง 30,000 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีประชากร 450,000 คน และมีประชากรแฝงกว่า 300,000 คน รวมกันเป็น 700,000 คน รวมกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีความคึกคักการมีสาธารณูปโภคให้กับภูเก็ตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในส่วนของถนน ทางด่วน การจัดการน้ำและขยะ แต่สนามบินที่เพิ่มขึ้นเป็นสนามบินแห่งที่ 2 นั้นมองว่าไม่จำเป็น

เนื่องจากสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 อาจเป็นการไปส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆเช่น กระบี่ พังงา ซึ่งจริงๆแล้วการบริหารจัดการของสนามบินภูเก็ตนั้นสามารถที่จะเป็นเซนเตอร์รองรับเครื่องบินที่จะเข้ามาเพิ่ม ประกอบกับเมื่อรวมกับความสามารถในการรับนักท่องเที่ยวรวมกันระหว่างสนามบินภูเก็ต และสนามบินกระบี่ในปัจจุบันก็สามารถรองรับได้ถึง 50 ล้านคน

นอกจากนี้การมีสนามบินแห่งใหม่ไม่ได้การันตีว่าธุรกิจการบินจะสามารถมาบริการได้ในระยะยาว เพราะปัจจุบันธุรกิจการบินที่เป็น สายการบินเช่าเหมาลำ (charter flight)นั้นมีมาก ซึ่งธุรกิจแบบนี้จะมาช่วงชิงส่วนแบ่งและเม็ดเงินช่วงไฮต์ซีซั่น แตกต่างจากสายการบินที่บินอยู่ประจำ (schedule flight) ที่ต้องลงทุนมากทั้งเรื่องการจ้างคนและโปรโมตเส้นทางการบิน ซึ่งการมี charter flight มากๆนั้นก็อาจจะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพการบินในภูเก็ตเพราะหลังจากช่วงไฮต์ซีซั่นสายการบินที่เป็น charter flight ก็จะไม่ได้บินเข้ามาอีกทำให้การเดินทางเข้ามาในภูเก็ตมีเที่ยวบินน้อยลงในช่วงหลังจากไฮต์ซีซั่นค่าตั๋วเครื่องบินก็จะแพงขึ้น ซึ่งหากสามารถทำให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะดึงคนเข้ามาได้ต่อเนื่องในช่วงโลว์ซีซั่น เช่น เป็นเมืองแห่งการจัดประชุม (Convention City) เป็นสถานที่จัดงาน Exhibition ขนาดใหญ่ระดับโลก ก็จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้  

 

“นายกฯคงนึกไม่ถึงว่ามีผลกระทบอะไรบ้างในการสร้างสนามบินเพิ่มหนึ่งแห่ง  การท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้นต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับความยั่งยืนเหมือนทำธุรกิจบนสุขุมวิท จะต้องทำในสิ่งที่สามารถตั้งราคาแพงๆได้ ต้องหากิจกรรมที่ดี ที่มีคุณค่า ซึ่งภูเก็ตเราก็เป็นแบบนั้น ไม่ได้ต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากแต่ต้องการนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังจ่ายเข้ามา เช่น การประชุมสัมมนาระดับโลก มีหอประชุมที่ดี เทศกาลดนตรีระดับโลก หรือดึงการท่องเที่ยวที่เป็น Wellness เข้ามา ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องของโลวต์ซีซั่นในพื้นที่ได้ด้วย”

 

นักท่องเที่ยวคุณภาพคือความยั่งยืน

คุณวิจิตรกล่าวว่าอนาคตการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้นสิ่งสำคัญมากกว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคือการทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างยั่งยืน 

“ปี 2566 ที่ผ่านมาภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 3 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 9 ล้านคน แม้ในแง่ของจำนวนของนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคน แต่ว่าในแง่ของรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นกลับมาเท่ากับช่วงของโควิด-19 แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจึงไม่ใช่คำตอบ แต่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวคือหัวใจ ภูเก็ตถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ และสามารถเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่ไม่ต้องการนักท่องเที่ยวในปริมาณมากแต่ต้องการนักท่องเที่ยวที่มีกำลังในการใช้จ่ายเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้”

จุดขายของภูเก็ตนั้นไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่สวยงาม ชายหาด น้ำทะเล เกาะแก่งที่สวยงามระดับโลกเท่านั้น แต่เสน่ห์ของภูเก็ตยังมีมิติของประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมจากอดีตอันเรืองรองของ “เหมืองแร่ดีบุก” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของเมืองและผู้คนด้วย ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ปะปนอยู่กับวิถีชีวิต อาหาร หรือแม้แต่สิ่งปลูกสร้างสไตล์ชิโนยูโรเปียน ที่อยู่ในย่านชุมชนเก่าในเมืองภูเก็ตก็มีสตอรี่และเป็นจุดขายได้เป็นอย่างดีทิศทางในอนาคตของการพัฒนาท่องเที่ยวภูเก็ตนั้นจึงต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก การท่องเที่ยวแบบ “Mass Tourism” นั้นไม่ได้เหมาะกับพื้นที่เกาะอย่างภูเก็ต เพราะการมีนักท่องเที่ยวมากเกินไปจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการตามมาไม่น้อยเช่นกัน  

เหลียวหลัง แลหน้าพัฒนา \'ภูเก็ต\' ยุคเหมืองแร่ - สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

โอกาสของภูเก็ตนั้นอยู่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง “Wellness tourism” รวมทั้งการส่งเสริมให้เป็นเมืองสำหรับการจัดการประชุมและสัมมนาเป็น "Convention City”  มีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานสากลจะทำให้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามามากขึ้น และเพิ่มดีมานต์การท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่นได้เป็นอย่างดี ​​​

การมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีทิศทางจะส่งเสริมการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้สามารถเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างยั่งยืน