ส่อง ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทำไมราคาดี ปีนี้คาดรายได้ทะลุ 2 พันล้านบาท
พื้นที่ปลูกทุเรียนแต่ละแห่ง มีผลต่อรสชาติแตกต่างกันไป อย่างทุเรียนภูเขาไฟ จ. ศรีสะเกษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ่านการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทำให้เป็นที่สนใจของตลาด ขณะเดียวกันผลผลิตที่มีน้อย ราคาจึงสูง ในปีนี้เฉลี่ย 173.25 บาท/ กก. มูลค่ารวม 2 พัน ล้านบาท
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนเรื่อยไปจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้เป็นฤดูกาลที่ทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งเป็นทุเรียนที่ผ่านการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดศรีสะเกษให้ผลผลิต แม้ว่าในภาพรวมผลผลิตปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน ผลทุเรียนร่วงหล่นจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี อย่างไรก็ตามด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทุเรียนภูเขาไฟที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟโบราณแถบเทือกเขาพนมดงรักซึ่งเป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ ดินจึงมีลักษณะ เหนียว สีแดง ระบายน้ำได้ดีมาก มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณที่สูง ต้นทุเรียนได้รับธาตุอาหารครบถ้วน
นอกจากนี้ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดที่ไม่ชื้นจนเกินไปรวมถึงแสงแดดที่มีความเข้มแข็งแสงสูง มีช่วงรับแสงต่อวันที่ยาวนาน ทำให้ทุเรียนสามารถดูดธาตุอาหารจากดินมาสังเคราะห์แสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งการที่เกษตรกรใช้น้ำใต้ดินที่มีความลึกมากกว่า 50 - 100 เมตร ในการให้น้ำไม้ผล จึงส่งผลให้ต้นทุเรียนได้รับแร่ธาตุครบถ้วน เนื้อทุเรียนที่ได้จึงอุดมไปด้วยธาตุอาหารและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นทุเรียนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ คือ เนื้อทุเรียนแห้ง และนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะ ไม่ฉุนมาก มีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่าทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษนั้นเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ส่งผลให้ปีนี้เกษตรกรยังสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดี เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 173.25 บาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว (ปี 2566 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 131.30 บาท) จึงเชื่อว่าปีนี้เกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตได้เกินเป้า 2 พันล้านบาทอย่างแน่นอน
“กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ได้ลงไปส่งเสริมพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียน นำเอาระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต การบริหารจัดการร่วมกันและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถเป็นผู้จัดการ บริหารจัดการการผลิต ผลผลิต และการตลาดได้ ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 17 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 914 ราย พื้นที่รวม 7,807 ไร่ ส่งเสริมเกษตรกร 938 ราย ในพื้นที่ 6,525.50 ไร่
ให้มีการผลิตตามมาตรฐานได้รับการรับรอง GAP และส่งเสริมเกษตรกรให้ได้รับใบอนุญาตตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 447 ราย พื้นที่ 2,596.25 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ด้านนายชนินทร ท้าวธงชัย เจ้าของสวนบุญส่ง บ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า หลังจากที่ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรจากเดิมที่ปลูกพืชไร่ มาทำสวนทุเรียน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังได้รับการสนับสนุนทักษะทางวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาการผลิตทุเรียนในพื้นที่อำเภอขุนหาญเพื่อขอรับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ให้ศึกษาวิจัยการถนอมทุเรียนและแปรรูปทุเรียนสู่การเพิ่มมูลค่า นำผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างมากและผลผลิตตกเกรดมาแปรรูปเป็นทุเรียนไอศกรีม ทุเรียนกวน และทุเรียนแช่แข็ง ทำให้มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการจำหน่ายทุเรียนผลสด
สำหรับปี 2567 จังหวัดศรีสะเกษมีเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จำนวน 2,559 ครัวเรือน ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์ และอำเภอศรีรัตนะ พื้นที่ปลูก 17,787.25 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 11,176 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต 6,611.75 ไร่ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตปีนี้อยู่ที่ 11,958.08 ตัน คาดการณ์ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1,069.98 กิโลกรัมต่อไร่