‘ททท.’ชูท่องเที่ยว ‘3  มรดกโลก’ ดัน ‘นครชัยบุรินทร์’ สู่ ‘World Class Tourism’

‘ททท.’ชูท่องเที่ยว ‘3  มรดกโลก’  ดัน ‘นครชัยบุรินทร์’ สู่ ‘World Class Tourism’

ททท.เร่งกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองหลักเชื่อมโยง IGNITE Thailand’s Tourism ต่อยอดเส้นทาง “เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก” การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ เชื่อมโยงท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) ยกระดับเป็นจุด World Class Tourism

นางสาวฐาปนีย์  เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท. รับไม้ต่อนโยบาย IGNITE Thailand’s Tourism เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์เชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัดทั่วประเทศ

โดยนำร่องกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ปักหมุดเมืองท่องเที่ยวศักยภาพสูงอย่างนครราชสีมา ก่อนจะเชื่อมโยงไปสู่เมืองน่าเที่ยวอื่น ๆ ในภูมิภาค (จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาโดดเด่นด้วยปัจจัยภายในที่เป็นจุดแข็งและปัจจัยภายนอกที่มีโอกาสพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

‘ททท.’ชูท่องเที่ยว ‘3  มรดกโลก’  ดัน ‘นครชัยบุรินทร์’ สู่ ‘World Class Tourism’

เชื่อมเมือง 3 มรดกโลกท่องเที่ยว

ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การคมนาคม ส่วนมิติทางการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมามีต้นทุนทางการท่องเที่ยวอย่างครบครัน ทั้งจุดขายของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ “เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก” (UNESCO Triple Heritage City) จังหวัดแรกและจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีโปรแกรมของยูเนสโกครบทั้ง 3 โปรแกรม ได้แก่ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช มรดกโลกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ และ อุทยานธรณีโลกโคราช ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ ททท. จะนำมาผลักดันทางการท่องเที่ยวต่อไป

ทุกภาคส่วนเตรียมยกระดับจังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาค ก้าวสู่สังคมคุณภาพสูง ด้าน ททท. เตรียมบูสต์การท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ตามแนวคิดแคมเปญ “สุขทันที ที่เที่ยวไทย” โดยต่อยอดจากปัจจัยสนับสนุนทั้งการเป็น “เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก” ธรรมชาติที่สวยงาม สินค้าทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและความพร้อมรองรับการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ทั้ง Indoor และ Outdoor เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่ม Incentive, Active Senior, Millennials รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยเฉพาะกลุ่มตลาดกอล์ฟ จากตลาดระยะใกล้และไกล

ผ่าน 3 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย โครงการ “ท่องถิ่น กินเที่ยว โคราช” ออกแบบเส้นทางนำร่องแห่งความสุข “ท่องเที่ยว 3 มรดกโลก ยูเนสโก” 3 วัน 2 คืน อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สวนแม่หม่อน สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เขายายเที่ยง วัดเลิศสวัสดิ์ (เขาจันทน์งาม) สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy) โครงการ MICHELIN และนำเสนอสินค้า GI ภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ โครงการ “WEEKDAY WORKATION @นครราชสีมา” นำเสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยววันธรรมดา ในรูปแบบการจัดประชุม สัมมนา Outing ส่งเสริมนครราชสีมาสู่ “MICE City” และ โครงการ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน @นครราชสีมา” ส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ Sport Tourism และการจัดอีเว้นต์ในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness Korat และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร รูปแบบ Chef’s Table

‘ททท.’ชูท่องเที่ยว ‘3  มรดกโลก’  ดัน ‘นครชัยบุรินทร์’ สู่ ‘World Class Tourism’

ดัน Soft Power ท่องเที่ยว

ททท. ยังส่งเสริม Soft Power โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์จุดขาย ผ่านแนวคิด 5 Must Do in Nakhonratchasima  ประกอบด้วย Must Eat อิ่มอร่อยอาหารจานเด็ด : ผัดหมี่โคราช ขนมจีนประโดก ส้มตำโคราช มะขามเทศเพชรโนนไทยกาแฟดงมะไฟ รวมทั้งเชื่อมโยงร้านอาหารที่ได้รับการคัดเลือกผ่านโครงการ MICHELIN GUIDE THAILAND Must See ละลานตาการแสดงวัฒนธรรม : เทศกาลเที่ยว
พิมาย งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ประเพณีสงกรานต์ แห่พระลอดซุ้มประตูเมือง ประเพณีแห่เทียนพรรษาโคราช งานเบญจมาศในม่านหมอก วังน้ำเขียว Must Seek แหล่ง unseen ถิ่นน่าเที่ยว : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เมืองลอยฟ้า เขายายเที่ยง ภาพเขียนสี 4,000 ปี วัดเขาจันทร์งาม Must Buy ของกินของฝากล้ำค่าน่าซื้อหา : หมี่โคราช เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ผ้าไหมปักธงชัย

ไวน์เขาใหญ่ ผักปลอดสาร ผักสลัด และ Must Beat กีฬาท้าทายกายใจ : ตีกอล์ฟ 12 สนาม วิ่งโคราชมาราธอน
วิ่งโคราชลอยฟ้า วิ่งเทรนชีวมณฑลสะแกราช ค่ายมวย ช.ชนะมวยไทย

ซึ่ง ททท. จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ภายใต้ชื่องาน AMAZING MUAY THAI EXPERIENCE  เจาะลึกแหล่งกำเนิด “มวยไทย” ผ่านอัตลักษณ์มวยไทยโบราณ 4 สาย และมวยโคราช กำหนดจัดงานวันที่ 6-8 กันยายน 2567 ลานเมรุพรหมทัต อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ไม่เพียงเท่านั้น ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องยังได้ร่วมพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาด้วย Mega project ต่าง ๆ อาทิ โครงการ Triple Heritage Ring Road ยกระดับสินค้าและบริการของท้องถิ่นตามเส้นทาง
3 มรดกโลก เชื่อมโยงการท่องเที่ยวนครชัยบุรินทร์, โครงการพัฒนาพื้นที่เขาใหญ่ เพื่อให้ได้รับการรับรองเป็น Blue Zone, โครงการ Locations For Film Industry in Korat เพิ่มศักยภาพเมืองโคราชเป็นพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา

‘ททท.’ชูท่องเที่ยว ‘3  มรดกโลก’  ดัน ‘นครชัยบุรินทร์’ สู่ ‘World Class Tourism’

เส้นทางคมนาคมหนุนท่องเที่ยว

โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนกับโครงข่ายคมนาคมหลักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยกรมทางหลวงชนบท โครงการการจัดแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติต่าง ๆ โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย จะเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทั้งด้านของเศรษฐกิจและการลงทุน ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และเกิดการถ่ายเทของของแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่

‘ททท.’ชูท่องเที่ยว ‘3  มรดกโลก’  ดัน ‘นครชัยบุรินทร์’ สู่ ‘World Class Tourism’

ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ปี 2566 พบว่า มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวมทั้งสิ้น 7,939,895 คน-ครั้ง แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 7,785,906 คน-ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 98 และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 153,989 คน-ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 2 สร้างรายได้หมุนเวียน 14,895.28  ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ปี 2567 เดือนมกราคม-เมษายน มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวมทั้งสิ้น 2,821,084 คน-ครั้ง แบ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 2,745,768 คน-ครั้ง และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 75,316 คน-ครั้ง

ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมเดินทางท่องเที่ยว จ.นครราชสีมา สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สุรินทร์ สระบุรี ลพบุรี อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางภายในภูมิภาค และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 42,942 คน-ครั้ง โดย 5 อันดับที่เดินทางเข้ามาจังหวัดนครราชสีมาสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ และสร้างรายได้หมุนเวียน 5,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2566