'กกร.' ชี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทย ผวาขึ้นค่าแรง 400 บาท ซ้ำเติมเอสเอ็มอี

'กกร.' ชี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทย ผวาขึ้นค่าแรง 400 บาท ซ้ำเติมเอสเอ็มอี

"กกร." ชี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทยแย่ จากปัจจัยภายใน และภายนอก ผวาขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ  "ไตรภาคี" ยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้ารื้อสมุดปกขาว เตรียมวางมาตรการ แก้เกมเศรษฐกิจ พร้อมขยับเป้าตัวเลขส่งออก

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ตนในฐานะรองประธานที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัด ต้องยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก ทุกคนบ่นกันหมด ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน สงครามการค้าทำให้สินค้าจีนถูกต่อต้าน ซึ่งมีผลต่อการส่งออกเราประมาณ 20% นี่คือ สัญญาณอันตราย

\'กกร.\' ชี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทย ผวาขึ้นค่าแรง 400 บาท ซ้ำเติมเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภายในประเทศก็แย่ และปัจจัยภายนอกก็มากดดัน ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ต.ค.2567 ตามนโยบายรัฐบาล ถือเป็นการขึ้นค่าแรงครั้งที่ 3 ในรอบปี ไม่มีประเทศใดที่จะปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้งต่อปี เพราะตามกฎหมายให้แค่ 1 ครั้งต่อปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก 

"รัฐบาลกดดันอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ยิ่งตอนนี้โรงงานปิดโรงงานไปแล้วใกล้ๆ จะพันแห่ง เลิกจ้างไปจำนวน การขึ้นค่าแรงทั่วประเทศจึงนับว่าเป็นสัญญาณอันตราย เพราะจากการสำรวจเรื่องค่าแรงวันนี้เอกชนเกิน 70% ไม่ต้องการให้มีการปรับขึ้นอีก ขอการเมืองอย่ามากดดันภาคเอกชนเลย ซึ่งทางส.อ.ท. จะยังคงยืนยันในจุดยืนเดิม" นายทวี กล่าว

 

 

 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนจะขอให้ความเห็นในฐานะของคณะกรรมการหอการค้าว่า การปรับขึ้นค่าแรง ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จะเป็นการซ้ำเติมประเทศมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม ค่าแรงถือเป็นปัจจัยภายในที่คุมได้ จึงไม่ควรจะมาปรับขึ้นทั่วประเทศในปีนี้ และส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเพราะผู้ประกอบการได้มีการวางแผนงาน และงบประมาณประจำปีไว้ล่วงหน้าแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้จะส่งผลกระทบกับแผนงาน และต้นทุนของผู้ประกอบการ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ ก็คือทำให้เกิดการจ้างจ้างงาน และดูว่าค่าแรงของประเทศไทยเท่าไหร่ สามารถสู้และแข่งขันกับต่างประเทศได้หรือไม่

\'กกร.\' ชี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทย ผวาขึ้นค่าแรง 400 บาท ซ้ำเติมเอสเอ็มอี

นายพจน์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงาน (ไตรภาคี) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว 53 จังหวัดเพื่อแจ้งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และท่าทีของคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ขอไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ขอให้มองถึงศักยภาพของแรงงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 

"ภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรีสกิลแรงงานให้กับตอบโจทย์ ซึ่งคาดว่าจะทยอยทำจดหมายจนครบ 77 จังหวัดภายในวัน 5 ก.ค.2567" นายพจน์ กล่าว

 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ผลการประชุม กกร. มีมติปรับกรอบการเติบโตของการส่งออก ปี 2567 เป็น 0.8-1.5% จากเดิม 0.5-1.5% เพราะแม้ว่าไทยจะได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายฐานซัพพลายเชนของโลก แต่การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว 

อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นค่าระวางเรือ 95% เมื่อเทียบจากเดือนเม.ย.67 ต้นทุน และระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นจากปัญหาทะเลแดงทำให้ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ภาพรวม การค้าโลกชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะต่อเนื่อง 

"ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐ ต่อจีนมีผลภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือนเม.ย.2567" 

\'กกร.\' ชี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทย ผวาขึ้นค่าแรง 400 บาท ซ้ำเติมเอสเอ็มอี

ขณะที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่ง และขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ถือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิต และการส่งออกของโลก ในระยะข้างหน้าการส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐ-จีน การขึ้นภาษีของสหรัฐต่อสินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน

โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีอาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้า และการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีประเด็นฉุดรั้งจากเรื่องต้นทุนจากการขาดแคลนเรือ และตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น  

การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอสังหาฯ กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์ และอสังหาฯ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น และกำลังซื้อในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังไม่ฟื้น อาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4% 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ว่าจะยังคงขยายตัว 2.2-2.7% อัตราเงินเฟ้อ ขยายตัว 0.5-1.0% โดยยังคงต้องจับตา ปัจจัย ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งทาง กกร.ได้มีมติว่าจะมีการทบทวนสมุดปกขาวที่ได้จัดทำไว้ก่อนหน้านี้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยมอบให้นายทวี ปิยะพัฒนา เป็นประธานคณะทำงานในการทบทวน

โดยที่ประชุมมีความกังวลต่อปัญหาการขนส่งทางเรือ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติม และจำกัดความสามารถในการส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำ ขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน 

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังมีความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงาน โดยในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2567-2580 (PDP2024) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ.2567-2580 (AEDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนขอให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 และขอให้มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง 

นายผยง กล่าวว่า ในที่ประชุม กกร.ได้มีการหารือผลจากการที่ กกร.จังหวัด ทั่วประเทศได้มีการประชุมหารือผู้แทนในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคีระดับจังหวัด) เกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ในภาคเกษตร และบริการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์