‘ยานยนต์ - อสังหาฯ’ ตัวฉุดเศรษฐกิจไทย กกร.ผวาดีมานด์ในประเทศหด
กกร.หวั่นดีมานด์ในประเทศทรุด ‘ยานยนต์-อสังหาฯ’ ตัวฉุดเศรษฐกิจ หลังยอดผลิตรถ 5 เดือนแรกติดลบ 24% ยอดโอนบ้าน 4 เดือนแรกติดลบ 11% ส่งสัญญาณอันตราย ชี้ขึ้นค่าแรงสร้างหายนะเอสเอ็มอี สทท.เผยคนไทยเที่ยวในประเทศลดลง คลังอัดมาตรการภาษี - สินเชื่อ กระตุ้นจีดีพีปี 2567 โตให้ได้ 3%
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง ซึ่งส่งผลให้หลายหน่วยงานทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 และล่าสุดธนาคารโลกลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2567 เหลือขยายตัว 2.4% จากประมาณการเดิม 2.8% ส่วนปี 2568 ขยายตัว 2.8% จากประมาณการเดิม 3.0%
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ธนาคารโลกมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปัจจุบันระบุว่า ภาครัฐบาลต้องเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม และการลงทุนภาครัฐบาลรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ส่วนหนี้สาธารณะถือว่าอยู่ระดับเสถียรภาพ
ในขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประชุมติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนก.ค.2567 ซึ่งแสดงความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศที่ปัจจุบันภาคอุปสงค์ หรือดีมานด์ มีการลงได้อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อที่หดตัวลงในตลาดยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยว่า การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งอุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ หากอุตสาหกรรมยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น และกำลังซื้อในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังไม่ฟื้น อาจจะกระทบทำให้เศรษฐกิจปี 2567 ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4% จากประมาณการที่ กกร.ประเมินไว้ 2.2-2-7%
รายงานข่าวระบุว่า กกร.ประเมินว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์สะสมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ลดลง 24% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว หรือหายไป 81,000 คัน ส่วนใหญ่มาจากยอดขายในกลุ่ม Commercial Car ที่ลดลงถึง 39% คิดเป็นจำนวน 67,000 คัน
สำหรับยอดขายโดยรวมที่ลดลงมีปัจจัยกดดันทั้งจากคุณภาพของผู้กู้ที่แย่ลง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ปัญหาหนี้เสีย ประกอบกับบางกลุ่มอาชีพ เช่น อาชีพอิสระประสบปัญหาการขอสินเชื่อจากการไม่มีหลักประกันที่มั่นคง ขณะที่การเบิกจ่ายงบรัฐบาลที่ล่าช้าทำให้ความต้องการใช้รถกระบะ และรถบรรทุกนั้นหดตัวลงตามทิศทางภาคก่อสร้าง
ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำลังปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยปี 2567 จากเดิม 1.9 ล้านคัน โดยมีแนวโน้มปรับเป้าหมายผลิตเพื่อขายในประเทศลงเหลือ 0.7 ล้านคัน จากเดิม 0.75 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน ส่วนยอดผลิตเพื่อส่งออกมีแนวโน้มคงเดิมที่ 1.15 ล้านคัน โดยจะสรุปในเดือนก.ค.2567
ยอดโอนบ้านจัดสรรติดลบ 11.8%
ขณะที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์พบว่า ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ลดลง โดยบ้านจัดสรรลดลง 11.8% และอาคารชุดลดลง 7.4%
ทั้งนี้ การหดตัวของมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีปัจจัยกดดันหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ตามการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นจากการใช้มาตรการ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อควบคุมภาวะหนี้ครัวเรือน
ขณะที่ปี 2567 คาดว่ามูลค่าโอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่คิดเป็น 60-70% ของทั้งประเทศ จะมีมูลค่าเท่า 575,000 ล้านบาท หดตัว 9.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 365,000 ล้านบาท หดตัว 8.7% และอาคารชุด 211,000 ล้านบาท หดตัว 10.3%
กกร.ลดเป้าส่งออกเหลือ 0.8-1.5%
นายผยง กล่าวว่า กกร.ปรับกรอบการเติบโตของการส่งออก ปี 2567 เป็น 0.8-1.5% จากเดิม 0.5-1.5% เพราะแม้ว่าไทยได้อานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายฐานซัพพลายเชนของโลก แต่การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว
อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นค่าระวางเรือ 95% เมื่อเทียบเดือนเม.ย.2567 ต้นทุน และระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นจากปัญหาทะเลแดงทำให้ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้นทำให้การค้าโลกชะลอตัวตลอดไตรมาส 2 และคาดว่าจะต่อเนื่อง
“ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีนมีผลภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือนเม.ย.2567” นายผยง กล่าว
รวมทั้งกังวลปัญหาการขนส่งทางเรือ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติม และจำกัดความสามารถการส่งออกไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำ ขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 2.2-2.7% อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 0.5-1.0% โดยจับตาปัจจัยที่ส่งผลเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่ง กกร.มีมติทบทวนสมุดปกขาวที่จัดทำก่อนหน้านี้เพื่อให้สอดรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
ย้ำขึ้นค่าแรง 400 บาท ซ้ำเติม “เอสเอ็มอี”
นายผยง กล่าวว่า จากการที่ กกร.จังหวัดทั่วประเทศประชุมหารือผู้แทนในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคีระดับจังหวัด) เกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และแสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบเอสเอ็มอีภาคเกษตรและบริการ
ทั้งนี้ กกร. เน้นย้ำถึงความสำคัญในการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่
นอกจากนี้ กกร. ได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (Competency Based Pay) ด้วยความร่วมมือเชิงรุกจากภาคนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเร่ง Upskill, Reskill ให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือตามมาตรฐาน โดย กกร. จะร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการสนับสนุน
โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานแล้ว 279 สาขา และกำหนดอัตราค่าจ้างตามทักษะมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว 129 สาขา ซึ่งเป็นกลไกในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะแทนการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
ไตรภาคีร่อนหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ต.ค.2567 ตามนโยบายรัฐบาล ถือเป็นการขึ้นค่าแรงครั้งที่ 3 ในรอบปี ไม่มีประเทศใดที่จะปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้งต่อปี เพราะตามกฎหมายให้แค่ 1 ครั้งต่อปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงาน (ไตรภาคี) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว 53 จังหวัด โดยภายในสัปดาห์นี้จะครบทุกจังหวัด เพื่อแจ้งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และท่าทีของคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ขอไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ขอให้มองถึงศักยภาพของแรงงานพัฒนาฝีมือแรงงาน
“ภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรีสกิลแรงงานให้กับตอบโจทย์ ซึ่งคาดว่าจะทยอยทำจดหมายจนครบ 77 จังหวัดภายในวัน 5 ก.ค.2567” นายพจน์ กล่าว
‘ไทยเที่ยวไทย’ ค่าใช้จ่ายไตรมาส 2 ลดฮวบ
รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 จัดทำโดย สทท. ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท โดยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ จำนวน 450 คนทั่วประเทศ กระจายตามเพศ ภูมิภาค อาชีพ และช่วงรายได้ พบว่าค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัด (ไม่รวมค่าเดินทาง) ในไตรมาส 2/2567 เป็นเงินประมาณ 2,683 บาท/คน/ทริป ลดลงกว่าไตรมาส 1/2567 อย่างมาก จากค่าใช้จ่าย 6,856 บาท/คน/ทริป
ส่วนการพักค้างคืนต่างจังหวัดไตรมาส 2 ปีนี้ ค้างคืนเฉลี่ยคนละ 4.79 คืน/ไตรมาส มากกว่าไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ 3.38 คืน/ไตรมาส ขณะที่ไตรมาส 3/2567 คาดการณ์อยู่ที่ 4.55 คืน/ไตรมาส
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ ระบุด้วยว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ คนไทยมีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด 57% ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยกว่าไตรมาส 2 (64%) และไตรมาส 1/2567 (74%) รองลงมา 33% ยังไม่ทราบว่าจะไปต่างจังหวัดหรือไม่ และอีก 10% ไม่มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด
“คลัง” เร่งออกมาตรการกระตุ้น
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเร่งออกมาตรการทางการคลังที่จะขับเคลื่อน และกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ถึงเป้าหมายที่ 3% ซึ่งที่ผ่านมาใช้มาตรการทางภาษีส่งเสริมการท่องเที่ยวและจัดสัมมนาเมืองรอง ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซัน)
รวมทั้งมาตรการทางการเงิน ได้แก่ สินเชื่อซอฟต์โลน โดยธนาคารออมสิน วงเงิน 1 แสนล้าน ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ (PGS 11) โดยบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีปัญหา รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข โดยการเร่งรัดมาตรการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 โดยเฉพาะงบลงทุนของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจให้เม็ดเงินลงสู่ระบบในช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนสุดท้าย ซึ่งทำได้ตามเป้าหมาย และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีตัวเลขเกินเป้าหมาย
“มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบต่อเนื่อง ซึ่งการเติมเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างถูกจุดมีต้นทุนไม่สูงเมื่อเทียบการใช้งบประมาณ ระหว่างรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะออกมาปลายปี 2567” นายเผ่าภูมิ กล่าว
“เงินดิจิทัล” มีผลต่อเศรษฐกิจปีนี้น้อย
สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นมาตรการสำคัญที่สนับสนุนเป้าหมายรัฐบาลในการกระจายรายได้ และลดการกระจุกตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลเล็กน้อยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2567 แต่จะมีผลชัดเจนในต้นปี 2568
ดังนั้นช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 รัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนได้เยอะขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับสินเชื่อ ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลใช้ต้นทุนน้อย แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญ และยังไม่ตรงจุด เนื่องจากยังไปไม่ถึงกลุ่มรายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น รัฐบาลจึงทำให้ตรงกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการใหม่ในการยกระดับ บสย. ให้ออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยอยู่ระหว่างรอประกาศ
ระบุ “หนี้สาธารณะ” อยู่ในระดับบริหารได้
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ ครม.เห็นชอบแผนปรับปรุงการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 ปีงบ 2567 ให้รัฐบาลก่อหนี้ใหม่อีก 2.75 แสนล้านนั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่ง สบน.ไม่กังวลอะไรเกี่ยวกับหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นเลย
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 64.29% ต่อจีดีพี มีองค์ประกอบในการคำนวณมากกว่าคำนิยามตามหลักสากลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐไม่ได้ค้ำประกันไว้ด้วย ซึ่งหากปรับคำนิยามให้ตรงกับ IMF หนี้สาธารณะปัจจุบันของไทยเหลือเพียง 57% ต่อจีดีพีเท่านั้น ซึ่งอยู่ระดับต่ำ และมีความปลอดภัย
ส่วนความกังวลเรื่องการขาดดุลเพิ่มเติมจะส่งผลให้แผนการคลังระยะปานกลางมีสัดส่วนหนี้สาธารณชนเพดานที่ 70% ต่อ GDP นั้น เป็นการเพิ่มขึ้นเพียงในส่วนคาดการณ์การขาดดุลแต่ในส่วน GDP ยังไม่ได้ปรับเพิ่มตามผลลัพธ์จากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งโครงการอื่นที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ลดลง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์