‘เศรษฐพุฒิ’ กระทุ้งรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มลงทุนเทคโนโลยีใหม่

‘เศรษฐพุฒิ’ กระทุ้งรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มลงทุนเทคโนโลยีใหม่

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ระบุศักยภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3% อัดมาตรการกระตุ้นไม่ช่วยเศรษฐกิจโตกว่าเดิม ชี้ต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เพิ่มลงทุนและเทคโนโลยีใหม่ ระบุไม่ปิดประตูปรับดอกเบี้ยหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ชี้ปรับกรอบเงินเฟ้ออาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าชะลอตัวลงจากการเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจและภาครัฐที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจปัญหาตรงกันและช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดกิจงาน “Meet the press” ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจและตอบคำถามถึงภาวะเศรษฐกิจ และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลกถือว่าฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าอย่างเห็นได้ชัด แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวและทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ

ทั้งนี้ ธปท.มองว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3% ขณะที่ความเห็นจากหลายฝ่ายมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมองเศรษฐกิจดีเกินไปและไม่เห็นความลำบากของคน

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นเพียงตัวเลขภาพรวม โดยค่าเฉลี่ยของคน แต่เราเข้าใจดีว่าที่ซ่อนอยู่คือความลำบากและความทุกข์ของประชาชนอีกหลายกลุ่ม” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดยเฉพาะเมื่อดูจากตัวเลขรายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตร กลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ ภาคการบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้ตั้งแต่ผ่านช่วงโควิดมาต้องเผชิญกับหลุมรายได้ที่หายไป ขณะที่ค่าครองชีพมีแต่จะเพิ่มขึ้น

รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าต่ำลง ปัจจุบันราคาสินค้าเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นมา ทั้งสินค้าพลังงาน ไข่ไก่ เนื้อหมู รวมถึงการซ้ำเติมจากหนี้ครัวเรือนของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ยากและความลำบากของคน

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างที่หนักขึ้น จากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นไม่ใช่เพียงอุปสงค์ที่หายไปแต่ยังได้รับการซ้ำเติมจากอุปทานจากต่างประเทศ ขณะที่ความสามารถในการแข่งการผลิตในประเทศที่เคยเป็นพระเอกไม่ตอบโจทย์กระแสใหม่ของโลกที่กำลังก้าวไปสู่เอไอ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี และเหล็ก

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยเหลือแค่ 3% 

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ดังนั้นต้องปรับจูนความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มองว่าจะกลับมาฟื้นตัวถึง 5% เพราะศักยภาพของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3%

"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาที่ศักยภาพที่ประมาณ 3% ซึ่งไม่ได้เป็นตัวเลขตายตัว หากอยากให้ขยายตัวมากกว่านี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มีการลงทุนและเทคโนโลยีใหม่ แต่ไม่ได้มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากความสามารถเราเท่าเดิมจะกระตุ้นให้ตายก็กลับมาที่ศักยภาพเท่าเดิมคือ 3%“ นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจต้องขึ้นอยู่กับการขยายตัวของแรงงานและประสิทธิภาพของแรงงานด้วย ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยซึ่งทำให้การขยายตัวของกำลังแรงงานลดลง 

ขณะที่ประสิทธภาพการผลิตยังเท่าเดิมกับที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 3% ไม่ถือเป็นตัวเลขที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับระดับรายได้ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

อัตราดอกเบี้ยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินให้อยู่ในกรอบเงินเฟ้ออย่างยืดหยุ่น โดยดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 2.50% เป็นอัตราที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องการประเมินสถานการณ์ข้างหน้า แต่ถ้าในอนาคตปัจจัยต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปก็พร้อมที่จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง

ทั้งนี้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่ได้พิจารณาแค่เงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน จึงไม่ได้เป็นสูตรตายตัวว่าเงินเฟ้อต่ำและจะต้องลดอัตราดอกเบี้ย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ไม่อย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ใช้เอไอตัดสินใจได้แทน

นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต้องชั่งน้ำหนักในหลายมิติและดูผลข้างเคียง และมองไปข้างหน้าว่าเทรนด์เป็นอย่างไร ซึ่งเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกใกล้ศูนย์ แต่ในครึ่งปีหลังจะขยายตัว 1.1% ทำให้ทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.6% รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการกำหนดดอกเบี้ยยโบบายในระดับที่ต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เสถียรภาพด้านการเงินเสื่อมลง

“ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อมองแนวโน้มในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่ ธปท.คาดการณ์ แต่ถ้าคาดการณ์นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ การฟื้นตัวเศรษฐกิจ ก็พร้อมที่จะปรับดอกเบี้ย ไม่มีการปิดประตูอะไรทั้งนั้นท่ามกลางความเสี่ยงความไม่แน่นอนของโลกที่มีอย่างมหาศาล" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ใช้มาตรการอื่นคู่อัตราดอกเบี้ย 

อย่างไรก็ดีนอกจากการพิจารณาเครื่องมือเรื่องของดอกเบี้ยนโนบายแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเงินได้ และลดผลกระทบต่าง ๆ ลงได้ เช่น มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีเป้าหมายในการดูแลเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การผ่อนเกณฑ์ LTV ชั่วคราว

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินเข้ามาเสริม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยที่ผ่านมามีตัวอย่างของมาตรการทางการเงิน เช่น สินเชื่อฟื้นฟูจากโควิด โครงการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว (ฟ้า-สิม) คลินิกแก้หนี้ 

รวมถึงการออกมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending - RL) เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยแก้หนี้เก่าที่มีปัญหา และปล่อยหนี้ใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ

“หากเราพึ่งแค่เรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย จะลำบาก จึงต้องใช้เครื่องมืออื่น ๆ เข้ามาเสริม และทำแบบผสมผสาน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมถกคลัง ปรับกรอบเงินเฟ้อ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การหารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อระหว่างธปท.และกระทรวงการคลังจะมีการประชุมร่วมกันในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่หารือร่วมกันและรับข้อเสนอของกระทรวงการคลังมาพิจารณา อย่างไรก็ตามการปรับกรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และคาดการณ์ต่อเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งจะส่งสัญญาณไปที่ตลาด ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น

“เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้เกิดจากการกำหนดกรอบเงินเฟ้อ แต่เกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน การอุดหนุนพลังงาน และการแข่งขันของธุรกิจทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ธปท.ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ที่จะไปบังคับให้ผู้ประกอบการห้ามขึ้นราคา” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สำหรับความกังวลเรื่องการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ไม่ได้สูงไม่ได้เป็นปัญหาถ้าไม่ได้นำไปสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งสะท้อนจากราคาของสินค้าที่ลดลงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำของไทยไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากการบริโภคที่ยังขยายตัว 7% ในปีที่แล้ว และยังโตต่อเนื่องในปีนี้

ห่วงสินค้าจีนกระทบโครงสร้างผลิต

ทั้งนี้ น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการแข่งขันจากสินค้าจีนที่จะเข้ามา เพราะกำลังการผลิตจีนมีอยู่มาก แต่อุปสงค์ในประเทศยังไม่โต ทำให้สินค้าจีนส่งออกมามากขึ้น ผนวกกับการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และยุโรปลำบาก ก็จะส่งมาในอาเซียนมากขึ้น อาทิ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ภาวะภายหลังจากวิกฤติโควิด มุมมองขององค์กรระหว่างประเทศอยากจะเห็นประเทศมีเสถียรภาพ รวมทั้งเสถียรภาพด้านการคลังซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเสถียรภาพโดยรวม โดยเฉพาะการมีสถานะการคลังในระยะยาวให้กลับมาเข้มแข็ง ซึ่งไทยมีการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมาก 20 ปี และมีแนวโน้มหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงขึ้น อยู่ในระดับ 64-65% ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรต้องใส่ใจ