ทอท.คาดสูญรายได้ไม่เกิน 20% หลังยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า

ทอท.คาดสูญรายได้ไม่เกิน 20% หลังยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า

ทอท.คาดสูญรายได้ไม่เกิน 3 พันล้านบาท คิดเป็น 20% จากส่วนแบ่งบริหารพื้นที่ ‘คิงเพาเวอร์’ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี หลังรัฐบาลมีนโยบายศึกษายกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า ยันไม่ต้องชดเชยและแก้ไขสัญญาสัมปทาน มั่นใจหากผู้โดยสารเพิ่มจะชดเชยรายได้ที่หายไป

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการพิจารณายกเลิกร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สำหรับผู้โดยสารขาเข้า โดยระบุ ทอท.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจพร้อมเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล แต่ทราบว่าปัจจุบันกระทรวงการคลังยังอยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียด ในส่วนของ ทอท.ยืนยันว่าหากดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทาน เพราะมีเงื่อนไขระบุไว้ในการเรียกขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สาธารณะได้

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการยกเลิกดิวตี้ฟรี 6 สนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเป็นพื้นที่จำนวนไม่มาก คิดเป็น 10% ของสัญญาสัมปทานทั้งหมด ส่วนรายได้ต่อปี ทอท.ได้รับส่วนแบ่งดิวตี้ฟรีอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นประเมินว่าหากยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า จะส่งผลให้รายได้ลดลงไม่เกิน 20% หรือไม่เกิน 3,000 ล้านบาท โดยเมื่อพื้นที่รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จะส่งผลบวกต่อการเติบโตของประมาณผู้โดยสาร และทำให้รายได้ของ ทอท.เพิ่มขึ้นมาชดเชยรายได้ส่วนนี้ที่หายไป

“รายได้ดิวตี้ฟรีไม่ใช่รายได้หลักของ ทอท. เพราะได้รับต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มตามปริมาณผู้โดยสาร ขณะที่รายได้หลักยังคงเป็นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) ซึ่งสูงเฉลี่ย 730 บาทต่อคน ดังนั้นเป้าหมายที่ ทอท.คาดว่าจะผลักดันปริมาณผู้โดยสารให้สูงต่อเนื่อง ในอีก 5 ปี หรือในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และในอีก 10 ปี หรือในปี 2577 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน จะทำให้รายได้ของ ทอท.ปรับสูงขึ้น ดังนั้นรายได้ดิวตี้ฟรีที่หายไปจึงไม่มีนัยยะสำคัญ”

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากกิจการด้านการบินอยู่ที่ 55% และนอกเหนือกิจการด้านการบินอยู่ที่ 45% ซึ่ง ทอท.ยังมั่นใจว่าจะคงสัดส่วนนี้เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทอท.มีแผนเพิ่มรายได้นอกเหนือกิจการด้านการบินผ่านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบท่าอากาศยาน โดยเฉพาะส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีพื้นที่พร้อมพัฒนา คือ แปลง 723 ไร่ ที่ผ่านมาได้เจรจาพัฒนาศูนย์ฝึกการบิน และสายการบินหลายแห่งสนใจใช้พื้นที่ อาทิ การบินไทย สายการบิน ANA รวมไปถึงพื้นที่พัฒนาแอร์พอร์ตซิตี้ 600 ไร่ คาดว่าจะเริ่มประมูลปลายปีนี้ ลงนามต้นปีหน้า เบื้องต้นประเมินรับรู้รายได้ในปี 2569 - 2570 เฉพาะส่วนของค่าเช่าปีละ 900 ล้านบาท ไม่รวมส่วนแบ่งรายได้ที่จะรับรู้หลังโครงการเปิดให้บริการ

ขณะเดียวกัน การยกเลิกพื้นที่ดิวตี้ฟรี รวมไปถึงการขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูเก็ต ที่ ทอท.ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ และจะมีผลในวันที่ 1 ก.ค.2567 เป็นต้นไป นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ ทอท.ยกระดับท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่บริการผู้โดยสาร สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับระหว่างการใช้ท่าอากาศยาน นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการชี้วัดมาตรฐานด้านการบิน

ในส่วนของประเด็นการขอคืนพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูเก็ต ก่อนหน้านี้ ทอท.ได้ประกาศเรียกคืนพื้นที่รวมประมาณ 1,400 ตารางเมตร แบ่งเป็น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1,000 ตารางเมตร ส่งผลให้พื้นที่ดิวตี้ฟรีถูกปรับลดลงจากตอนที่ยื่นประมูลมีพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% และท่าอากาศยานภูเก็ต ปรับลดลงจากตอนที่ยื่นประมูลมีจำนวนประมาณ 2,500 ตารางเมตร การเรียกคืนอยู่ที่ประมาณ 400 ตารางเมตร หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 17%

สำหรับผลกระทบจากการขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการฯและพื้นที่ปฏิบัติงาน จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และผู้ประกอบการอื่นๆ รวมทั้งพื้นที่ปฏิบัติงานบางส่วนของส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และกรมสรรพากร โดย ทอท.จะดำเนินการขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการของผู้ประกอบการ และพื้นที่ปฏิบัติงานของส่วนราชการบางส่วน ทำให้ ทอท.ประมาณการณ์สูญเสียรายได้เดือนละกว่า 90 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท 

นายกีรติ ยังกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจด้วยว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิด- คลี่คลาย ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายมาตรการ ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน คาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.กลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยในปีงบประมาณ 2567 (เดือน ต.ค. 2566 – พ.ค. 2567) ฟื้นตัวจนเกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารรวม 81.05 ล้านคน ฟื้นตัว 83.4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.95 ล้านคน ฟื้นตัว 85.8% และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.09 ล้านคน ฟื้นตัว 80% 

ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 490,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 80.9% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 83.5% และเที่ยวบินภายในประเทศ 216,560 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 77.9% โดย ทอท. ได้ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งของในอีก 5 ปี หรือในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปี หรือในปี 2577 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน

“2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ก.ย.2565 - มี.ค.2566 ทอท.มีรายได้สูงถึง 33,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 71% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 19,825 ล้านบาท โดยเรามั่นใจว่าอีก 2 ไตรมาสที่เหลือจะสามารถทำรายได้รวมมากกว่าปี 2562 ขณะที่กำไรใน 2 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 10,348 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.จะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนพัฒนาขีดความสามารถสนามบิน และคาดการณ์ว่าอีก 2 ไตรมาสที่เหลือ จะสามารถกำไรได้อย่างต่อเนื่อง“ 

ขณะที่แผนพัฒนาท่าอากาศยานก้าวสู่ปีที่ 46 ทอท. ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายพื้นที่ท่าอากาศยาน และพัฒนาบริการรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร เบื้องต้นยังคงแผนลงทุนโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก วงเงินลงทุน 12,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ รวมไปถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศใต้ 120,000 ล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนออกแบบรายละเอียด