เลขาฯ กขค. ย้ำ BYD ไม่ผิดพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า
เลขาฯ กขค. ย้ำ BYD ไม่ผิดพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เหตุไม่ได้ขายสินค้าในไทยต่ำกว่าทุนเพื่อฆ่าคู่แข่ง และไม่ได้บังคับซัพพลายลดราคาขายอะไหล่ให้ ชี้เป็นการยอมขาดทุนกำไร ด้านกรมการค้าภายใน เซ็น MOU ร่วม กขค.ผนึกกำลังดูแลส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี และเป็นธรรม
นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยถึงกรณีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีน คือ BYD ลดราคาขายรถอีวีในไทยหลายแสนบาทว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า BYD ไม่ได้ขายรถอีวีในไทยในราคาต่ำกว่าทุนเพื่อเป็นการฆ่าคู่แข่ง และยังไม่ได้บังคับให้ซัพพลายเออร์ ต้องลดราคาขายชิ้นส่วน หรืออะไหล่รถยนต์ให้กับบริษัท จึงไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เพราะเท่าที่ทราบ ราคาที่ขายในไทย ยังแพงกว่าราคาที่ขายในจีน แม้ถูกกว่าที่ขายในยุโรป อีกทั้งการลดราคาดังกล่าว ไม่ได้เป็นการทำลายคู่แข่ง แต่ทำให้เกิดการแข่งขัน และผู้บริโภคได้ประโยชน์
“ผมมองว่า BYD ยอมขาดทุนกำไร หรือมาร์จินของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น และผู้บริโภคได้ประโยชน์ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ภายใต้พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า การขายราคาต่ำกว่าทุน สามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลทางธุรกิจ และทำภายในระยะเวลาที่จำกัด เช่น ล้างสต๊อกสินค้า หรือทดลองตลาดสำหรับสินค้าที่จะออกใหม่”
อย่างไรก็ตาม กขค.ไม่จำเป็นต้องเชิญค่ายรถยนต์มาหารือ เพราะพฤติกรรมยังไม่เข้าข่ายกระทำผิดตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แต่ กขค.จะจับตาการแข่งขันของรถยนต์อีวีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการไม่เอารัดเอาเปรียบกันจนทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ ส่วนกรณีของ BYD ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นในส่วนของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้า ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดูแลอยู่แล้ว
ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” เพื่อส่งเสริม และการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมเพื่อเสริมพลังความร่วมมือกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม เพื่อเสริมพลังเพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแล และส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าในประเทศให้มีความเป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการ พร้อมกับดูแลประชาชน และผู้บริโภคทั่วประเทศให้ได้รับการพิทักษ์ประโยชน์ โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ สำหรับสนับสนุนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินค้า และบริการ และใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
“กรมมีช่องทางการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 อยู่แล้ว หากประชาชน หรือผู้ประกอบการ ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า ก็สามารถร้องเรียนมาได้ หากเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า กรมก็จะส่งต่อให้ กขค.พิจารณา ซึ่งถือเป็นการช่วยกันสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และส่งเสริมบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์