ปี 66 ไทยนำเข้า “ทองคำ”พุ่งอันดับ 7 โลก
สนค.เผย ปี 66 ไทยนำเข้า “ทองคำ”มูลค่า 1.9 พันล้าน ดอลลาร์ สูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก ขณะที่จีนรั้งแชมป์นำเข้าทองคำสูงสุดของโลก ชี้ไทยนำเข้าเพื่อเก็งกำไร
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจโดย World Gold Council พบว่า “ทองคำ” ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนไทยนิยมในการเก็งกำไรและกระจายความเสี่ยงการลงทุน ท่ามกลางสถานการณ์ โลกที่มีความผันผวน รวมถึงความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
จากสถิติการค้าระหว่างประเทศบนเว็บไซต์คิดค้า.com พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยได้นำเข้าทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปเป็นมูลค่าราว 7.9 พันล้านดอลลาร์ และส่งออกเป็นมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ประเทศไทยมีสถานะผู้นำเข้าสุทธิเป็นมูลค่า 1,941 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่านำเข้าสุทธิสูงที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยจีนนำเข้าทองคำสูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 88,052 ล้นดอลลาร์ ตามด้วยอินเดีย 42,511 ล้านดอลลาร์ และตุรกี 25,701 ล้านดอลลาร์
เมื่อพิจารณาการค้าทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูประหว่างประเทศของไทยใน 5 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าไทยนำเข้าทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป รูปเป็นปริมาณ 75.4 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 76.9 % โดยแหล่งนำเข้าทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่การค้าทองคำของไทยเป็นไปเพื่อการเก็งกำไร และสะสมเพื่อการออมภายในประเทศ มากกว่าการนำเข้ามาแปรรูป เพื่อการส่งออกสะท้อนจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวม (ส่งออกและนำเข้า) ของทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป และทองรูปพรรณ พบว่าการค้าทองรูปพรรณมีสัดส่วนเพียง 7 %
ขณะที่การค้าทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปมีสัดส่วนถึง 93% โดยเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกและนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ ทางการค้าของภาคเอกชน มิใช่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยไทยมีศักยภาพในด้านฝีมือและการออกแบบทีเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหากส่งเสริมอย่างจริงจังสามารถสร้างโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศจากการ ส่งออกทองรูปพรรณหรือเครื่องประดับที่ทำจากทองคำได้
โดยพบว่าในปี 2566 ไทยส่งออกทองรูปพรรณเป็นมูลค่า 649.7 ล้านดอลลาร์ เติบโต 12.7 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ 5 เดือนแรกของปี 2567 ส่งออกทองรูปพรรณ เป็นมูลค่า 122 ล้านดอลลาร์ หดตัวที่ 46% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และออสเตรเลีย
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่า การส่งออกทองคำเดือน พ.ค.2567 มีมูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 135.39% เนื่องจากราคาทองคำเริ่มนิ่งและผันผวนลดลง ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น จากที่ช่วง 2 เดือน ก่อนหน้านี้ คือ มี.ค.และ เม.ย. การส่งออกทองคำลดลงต่อเนื่อง เพราะผู้ส่งออกกลัวความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา
ส่วนยอดรวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกทองคำมีมูลค่า 2,472.37 ล้านดอลลาร์ ลด 16.79% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์ลด 75.02% และ เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์ ลด 64.57%
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยฮ่องกง เพิ่ม 25.84% สหรัฐฯ เพิ่ม 8.41% อินเดีย เพิ่ม 80.64% เยอรมนี เพิ่ม 14.93% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 15.26% เบลเยียม เพิ่ม 57.68% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 2.36% อิตาลี เพิ่ม 0.10% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.31% แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 16.74%