วัดใจ 'สุริยะ' ดันสัญญา 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

วัดใจ 'สุริยะ' ดันสัญญา 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

รฟม.ยันส่งร่างสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ผ่านทุกกระบวนการรวมสำนักงานอัยการสูงสุดไฟเขียวแล้ว ลุ้น “สุริยะ” ชงเข้า ครม.สัปดาห์หน้า พร้อมลุยลงนามสัญญา BEM ทันที ขณะนี้เอกชนยังยืนราคาตามเงื่อนไขเจรจาแรกเริ่ม เสนอขอรัฐสนับสนุน 78,288 ล้านบาท

นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน รฟม.ได้ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งขึ้นตอนดำเนินการอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อย่างไรก็ดี รฟม.ยืนยันว่าร่างสัญญาดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว ประกอบกับได้มีการเจรจากับเอกชนผู้เสนอผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุด โดยทางเอกชนรายดังกล่าวยังยืนยันราคา และผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ รวมไปถึงข้อเสนออื่นๆ ตามที่มีการเจรจาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่ม BEM ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

“ตามกระบวนการตอนนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรติดขัดแล้ว เพราะร่างสัญญาก็ผ่านอัยการสูงสุดตรวจสอบมาแล้วในก่อนหน้านี้ ซึ่ง รฟม.ได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม หากเห็นชอบก็เสนอไปยัง ครม.ตามขั้นตอน และส่วนที่เหลือเป็นอำนาจของ ครม.ในการพิจารณาอนุมัติลงนามร่วมลงทุน”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รฟม.ได้ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนมายังกระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวและเสนอไปยัง ครม.เพื่อขอบรรจุวาระการพิจารณา โดยคาดว่าน่าจะมีการบรรจุวาระพิจารณาในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า หรือในวันที่ 16 ก.ค.2567 หากไม่มีปัญหาติดขัด ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติ ก็จะเป็นผลให้ รฟม.สามารถลงนามกับเอกชนได้ทันที

สำหรับกรณีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบันยังมีข้อพิพาทคดีในศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมไปถึงมีข้อร้องเรียนอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับกรณีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.2565 มีการกำหนดเงื่อนไขอันมีลักษณะอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

โดยประเด็นดังกล่าวกระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าในส่วนของคดีในศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นการฟ้องร้องเกี่ยวกับตัวบุคคล กล่าวคือ คณะกรรมการคัดเลือก ม.36 และอดีตผู้ว่าการ รฟม. ดังนั้นไม่น่ามีส่วนกระทบต่อการลงนามสัญญา ขณะเดียวกันข้อร้องเรียนใน ป.ป.ช.ก็เป็นการร้องเรียนตามปกติของการประกวดราคา โดย รฟม.สามารถตอบประเด็นคำถามในเรื่องนี้ได้ ดังนั้นกระทรวงฯ จึงไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อลงนามสัญญาครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม BEM เคยออกมาเปิดเผยรายละเอียดข้อเสนอการประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีมูลค่าโครงการ 139,127 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. เสนอขอให้รัฐอุดหนุนค่างานโยธา ซึ่งตามผลการศึกษากำหนด 91,983 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) 84,756 ล้านบาท โดย BEM เสนอที่ 91,500 ล้านบาท หรือ PV ที่ 81,871 ล้านบาท

2. เอกชนจะแบ่งผลตอบแทนให้รัฐ ซึ่งผลศึกษารัฐจะไม่มีการอุดหนุนค่าเดินรถให้เอกชน โดย BEM เสนอจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ 10,000 ล้านบาท หรือ PV ที่ 3,583 ล้านบาท เมื่อนำผลตอบแทนให้รัฐหักกับค่าอุดหนุนงานโยธา เป็นผลประโยชน์สุทธิ PV จะพบว่า BEM ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ 78,288 ล้านบาท ลดลง 7% จากราคากลาง 84,255 ล้านบาท

โดยภายหลังชนะการประมูล รฟม.ได้เรียกไปเจรจาต่อรองให้ยืนยันราคาค่าก่อสร้าง เนื่องจากค่าก่อสร้างตามผลการศึกษานั้น รฟม.ประเมินโดยใช้ข้อมูลในปี 2560 - 2561 ขณะที่ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ประกอบกับค่าเหล็กในช่วงของการประกวดราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ซึ่งในส่วนของ BEM ยังคงยืนยันราคาตามข้อเสนอ

นอกจากนี้ รฟม.ให้ BEM ตรึงราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม 10 ปี โดยให้ใช้ราคาเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มต้น 17 บาท จาก TOR ที่ระบุเริ่มต้น 20 บาท รวมถึงต้องไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนหากเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมทั้ง BEM ต้องรับผิดชอบบำรุงรักษาโครงการประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือนด้วย