'ลาว' แบนเงินบาทไม่กระทบไทย ชี้นำเข้าสินค้ายังต้องชำระเป็นบาท

'ลาว' แบนเงินบาทไม่กระทบไทย ชี้นำเข้าสินค้ายังต้องชำระเป็นบาท

ปธ.สภาธุรกิจไทย-ลาว  ชี้  ลาวแบนเงินบาท เหตุเพราะเงินลาวอ่อนค่ามาก เชื่อ สินค้าอุปโภคบริโภคไทยยังยึดตลาดลาว ส่งผลให้ผู้นำเข้ายังคงใช้เงินบาทซื้อสินค้าไทย แนะผู้ประกอบการหาตลาดใหม่รองรับ โดยเฉพาะตลาดจีน

นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวกับ"กรุงเทพธุรกิจ"ถึงกรณีที่ร้านค้าในประเทศลาวประกาศไม่รับเงินบาทในการซื้อขายสินค้าว่า การไม่รับเงินต่างประเทศในการซื้อขายสินค้าในประเทศของตนเองเป็นระบบสากลอยู่แล้ว อย่างไทยก็มีระเบียบในการรับเงินตราต่างประเทศอยู่เช่นกัน ทางประเทศลาวก็เช่นกัน แต่ที่ผ่านมาที่ลาวรับเงินบาทเป็นเพราะอุปสงค์ อุปทานในตลาดการค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยจำหน่ายอยู่ในตลาดลาวมากประมาณ 80-90 % ซึ่งสินค้าซื้อมาจากไทย ดังนั้นดีมานด์เงินบาทก็ตามมา จึงทำให้เงินบาทไทยสามารถนำไปใช้จ่ายในประเทศลาวได้ โดยอาจทำให้ค่าเงินกีบดีมานด์ลดลง

อย่างไรก็ตามคิดว่าปัญหาหลักๆที่ทำให้เงินกีบอ่อนค่ามากเกิน เพราะอุตสาหกรรมหลักๆไม่ได้มีการพัฒนา หรือเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้สินค้าไทยทะลักเข้าไปในลาวมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้เงินบาทมากขึ้นตามไปด้วย

\'ลาว\' แบนเงินบาทไม่กระทบไทย ชี้นำเข้าสินค้ายังต้องชำระเป็นบาท

นายจตุรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านประเทศลาวเองก็รณรงค์ให้คนในประเทศใช้เงินกีบ แต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาดลาวมากก็หันกลับมาซื้อขายด้วยเงินบาทอีก

ปัจจุบันสถานการณ์รณรงค์ให้ใช้เงินกีบแทนเงินบาทแบบนี้ก็กลับมาอีกครั้งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะลาวมีปัญหาเรื่องการชำระเงินและค่าเงินกีบที่อ่อนค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเงินกีบ 700 กีบต่อ 1 บาท ซึ่งเงินกีบอ่อนค่ามาเป็น 10   ปีเมื่อเทียบกับเงินบาทเพราะลาวขาดดุลการค้ามากเพราะลาวเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าเป็นหลักจึงทำให้ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด ดังนั้นกลไกอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่สามารถสร้างสมดุลได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงเรื่อยๆ

ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอก็ก็ลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนในลาวมากนักเนื่องจากเมื่อคำนวณอัตราผลตอบแทนลบด้วยอัตราเงินเฟ้อออกมาเป็นลบ นักลงทุนก็ไม่มาลงด้วย

ปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ในลาว คือ นักลงทุนจีน ซึ่งมองโอกาสในอนาคต การขยายภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เงินหยวนมีอิทธิพลและมีบทบาทในลาวมากขึ้นในหัวเมืองชายแดนที่ติดกับจีน เช่นอุดมชัย หลวงพระบาง  บ่อแก้ว ส่วนการลงทุนจากประเทศอื่นที่ใช้เงินดอลลาร์ทางรัฐบาลลาวก็ให้มีการแปลงค่าเงินก่อน ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะได้เปรียบเพราะแลกเปลี่ยนเป็นเงินกีบได้มากกว่า

นายจตุรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของการส่งออกไทยไปลาว มีผลกระทบบ้าง เมื่อค่าเงินกีบลดลง ผู้นำเข้าก็ต้องไปหาแลกเงินบาทซึ่งก็หายากมากในสถานการณ์แบบนี้ซึ่งก็ต้องหาแลกตาม”ตลาดมืด”เพื่อนำเงินบาทมาใช้ซื้อสินค้าไทยและต้องใช้เงินบาทมากขึ้น ขณะที่สินค้าไทยยังคงราคาปกติ แต่เงินกีบอ่อนค่ามาก ซึ่งขณะนี้ร้านค้าตามแนวชายแดนลาว ก็เริ่มมีปัญหาขายยากมากขึ้น

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไทยไปลาว เริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบการส่งออกสินค้า เช่น จากเดิมซื้อเป็นขวด ก็เปลี่ยนซื้อเป็นปีบ หรือถัง เป็นต้น อย่างไรก็ตามคงต้องจับในอนาคต เพราะผู้ประกอบการลาวจะแสวงหาสินค้าที่ราคาถูกกว่าของไทย เช่น  สินค้าจากจีน หรือเวียดนาม เอาเข้ามาขายแทน

สำหรับผู้ประกอบการไทยคงต้องปรับตัวเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้มากนักเพราะลาวยังต้องการสินค้าไทยอยู่มาก แต่ในระยะยาวต้องหาแนวทางรองรับโดยเฉพาะการเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ หากจีนเข้าไปลงทุนในสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นสินค้าจีนก็จะเข้ามาทดแทนสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยคาดว่า ประมาณ 5-10 ปีน่าจะมีผลกระทบแล้ว ซึ่งเราจะต้องเร่งหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดจีน  

ล่าสุด สภาธุรกิจไทย-ลาว ได้ลงนามร่วมกับหอการค้าชายจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี ศูนย์ China Intelligence Center (CIC) และสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้  เพื่อหาช่องทางผลักดันสินค้า SMEs ไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาดจีนผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน หรือ Cross-Border e-Commerce ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยผู้ประกอบการไทยขายสินค้าอุปโภคบริโภคไปขายที่ตลาดจีน  และวันที่ 7 ส.ค.ทางสภาธุรกิจไทย-ลาว  จะเปิดศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้าน Cross-Border e-Commerce  ที่ม.ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เพื่อพัฒนา SMEs ให้มีความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น