วิกฤติเศรษฐกิจลาม ‘บิ๊กคอร์ป’ เร่งบาลานซ์ลงทุน คุมความเสี่ยงธุรกิจ

วิกฤติเศรษฐกิจลาม ‘บิ๊กคอร์ป’ เร่งบาลานซ์ลงทุน คุมความเสี่ยงธุรกิจ

"บิ๊กคอร์ป” รับมือเศรษฐกิจทรุด “บางจาก” ชี้งบรัฐฟื้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เอกชนต้องบาลานซ์เงินทุนระยะสั้น-ยาว “สหวิริยา” หวังเศรษฐกิจไทยไม่ซ้ำต้มยำกุ้ง ระวังบริหารความเสี่ยงธุรกิจ “ธุรกิจการค้า ท่องเที่ยว อสังหาฯ” ฮึดสู้! อัดแคมเปญ ปลุกกำลังซื้อ หวังไตรมาสสุดท้าย 

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย และต่างประเทศทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารโลกปรับลดหั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงอีกครั้งเหลือ 2.4% หลังจากเพิ่งหั่นเหลือ 2.8% ในการอัปเดตเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการชัดเจน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบชัดเจนทั้งยอดขายที่ปรับตัวลง รวมถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ไตรมาส 1 ปี 2567 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 63.9% ทั้งจำนวนหนี้สิน และภาระชำระหนี้ระดับสูง ความกังวลต่อภาคธุรกิจกำลังขยายไปสูงบริษัทขนาดใหญ่หรือ “บิ๊กคอร์ป

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน บางจากต้องสร้าง “บาร์ลานซ์” แผนลงทุน โดยการดำเนินธุรกิจของบางจากปกติจะดูแผนดำเนินการ และมองเทรนด์ธุรกิจระยะยาวอยู่แล้ว 

ส่วนระยะสั้นจะดูปัจจัยที่มีผลให้เกิดความผันผวน เช่น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เคยอยู่ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปรับตัวขึ้นมาระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้น การดำเนินธุรกิจระยะสั้นบางจากต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา พร้อมมองแนวโน้มระยะยาวด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ จะบาลานซ์การลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ ในประเทศเดินหน้าลงทุนธุรกิจก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว (SAF) โดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ร่วมทุนระหว่างบางจาก, บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด และบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ลงทุนเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายจะเสร็จต้นปี 2568

นายชัยวัฒน์ กล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2567 จะดีขึ้นจากครึ่งปีแรกผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า 7 เดือน และการเบิกจ่ายสะสมมาถึงปัจจุบัน ขณะนี้เริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้แล้วเชื่อว่าโมเมนตัมจะเปลี่ยนทิศทาง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ผ่านมามีเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 2 ตัวหลักที่หายไป คือ 1.การลงทุน 2.การใช้จ่ายภาครัฐ 

ดังนั้น เมื่อเครื่องยนต์ 2 ตัวนี้ เติมเข้าระบบเศรษฐกิจ จึงคิดว่าโมเมนตัมครึ่งปีหลังจะดีขึ้น และเมื่อเกิดการลงทุนทั้ง 2 ส่วน จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายสร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้น

วิกฤติเศรษฐกิจลาม ‘บิ๊กคอร์ป’ เร่งบาลานซ์ลงทุน คุมความเสี่ยงธุรกิจ

“สหวิทยา” ระมัดระวังบริหารธุรกิจ

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร กระทบต่อเอสเอ็มอีปัจจุบันต้องปิดโรงงานลงสหวิริยาฯ มองว่าผลกระทบดังกล่าวกระทบกลุ่มบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นลูกค้าบริษัทฯ โดยขณะนี้เอกชนได้หารืออย่างเข้มข้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยเปราะบาง แม้ยังเติบโตได้แต่อยู่ระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน ดังนั้นจึงต้องการบริหารองค์กรอย่างระมัดระวัง

“การบริหารธุรกิจช่วงนี้ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง จากยอดการปิดโรงงานตามข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แม้จะเปิดโรงงานใหม่เข้ามาเสริมก็ยังน่าเป็นห่วง แต่เชื่อวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ถึงขั้นต้มยำกุ้ง ถ้าถึงขั้นนั้นจริงๆ จะตายกันหมดแน่” นายนาวา กล่าว

อีกตัวแปรสำคัญคือ งบประมาณรัฐต้องเร่งเบิกจ่าย จะเห็นว่าเมื่อประเทศมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง 10% ยอดขายรถยนต์ลดลง 20% ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าอาจถึงขั้นวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยส่วนตัวหวังว่าจะไม่ถึงขั้นนั้นเพราะพื้นฐานไทยยังแข็งแกร่ง และไม่ถึงกับแย่ 

แต่ที่น่าเป็นห่วงเฉพาะเอสเอ็มอียังเดือดร้อนการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งรัฐบาลพยายามช่วยเหลือทั้งอัตราดอกเบี้ยขณะที่ธนาคารไทยน่าจะเริ่มปรับตัวมากขึ้น และเห็นความสำคัญของลูกค้าชั้นดีหลายรายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมานาน

“อิมแพ็ค”ชูจุดแข็งฝ่าต้นทุนร้านอาหารพุ่ง

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้า และการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจของอิมแพ็คครึ่งแรกปีนี้โตตามเป้าหมาย เมื่อดูเฉพาะกลุ่มธุรกิจให้เช่าพื้นที่จัดงานไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) งานจัดเลี้ยงและคอนเสิร์ต พบมีงานเข้ามาจัดจำนวนมาก ปัจจุบันมีอัตราการเช่าพื้นที่ 50%

ส่วนกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ได้รับผลกระทบจากต้นทุนปรับสูงขึ้น ต้องปรับกลยุทธ์หารายได้เพิ่ม รวมถึงแก้สูตรอาหารให้อร่อยถูกปากผู้บริโภค วางแผนงานครัว ยกระดับโปรดักต์ทั้งปัจจุบัน และออกใหม่ รองรับตลาดบนเพื่อเพิ่มรายได้

แนะเอสเอ็มอีโฟกัสสิ่งที่แข็งแรง ทำได้ดี

สำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบหากมองในมุมผู้ประกอบการงานแสดงสินค้า พบว่า งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ไทยเฟ็กซ์เดือนพ.ค. มีผู้ออกบูธทั้งใน และต่างประเทศจำนวนมาก เอสเอ็มอีมาออกงาน ดูงาน ดูนวัตกรรม เพื่อนำไปต่อยอด และพาธุรกิจไปรอด

“ในมุมบิ๊กคอร์ป มองว่ายุคที่เอสเอ็มอีเผชิญความท้าทายจากปัญหากำลังซื้อเศรษฐกิจฐานราก จำเป็นต้องโฟกัสสิ่งที่เราแข็งแรง อย่าทำเยอะหรือกระจัดกระจายเกินไป เพราะจะไปเจือจางความเอาใจใส่ ต้องมีความเฉพาะด้าน ทำตรงไหนแล้วทำได้ดี ขอให้โฟกัสตรงนั้นต่อไป”

“วีรันดา” อัดโปรฯ ตรึงกำลังซื้อคนไทย

นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่โต้ไปกับคลื่นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเดินทางเข้าไทยสะสมกว่า 17.5 ล้านคน จากเป้าหมายตลอดปีนี้ของภาครัฐตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน 

สำหรับโรงแรมเครือวีรันดา นอกเหนือจากฐานลูกค้าหลักอย่างจีน เกาหลี และยุโรปตะวันตกที่ขยายตัวดีแล้ว ยังเน้นเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ กระจายความหลากหลายตลาด เช่น ยุโรปตะวันออก ไต้หวัน ออสเตรเลีย และอื่นๆ มั่นใจว่าจากหลายกลยุทธ์ที่ทำไปเมื่อปีที่แล้ว จะเริ่มตอบโจทย์ธุรกิจปีนี้โดยเฉพาะไฮซีซันไตรมาส 4 และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจไทย อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศบ้าง คนไทยเดินทางด้วยความถี่น้อยลง ทำให้โรงแรมในเครือต้องสร้างความแตกต่างในเชิงกิจกรรมทางการตลาด ล่าสุดมีโปรแกรมผ่อน 0% และคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มโรงแรมเดียวที่เสนอโปรโมชันแบบนี้ให้ลูกค้า เพื่อสนับสนุนกำลังซื้อคนไทยที่อยากเที่ยว แต่จ่ายไม่ไหว

เซ็นทรัลพัฒนาเดินหน้าลงทุน-ปลุกใช้จ่าย

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนาได้สร้างโมเมนตัมร่วมปลุกเศรษฐกิจ และกำลังซื้อตลอดปี ผ่านแคมเปญโปรโมชัน และจัดอีเวนต์ใหญ่ เพื่อสร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายของลูกค้าทั้งชาวไทย และต่างชาติ ประเมินไตรมาสสุดท้ายสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น

ครึ่งปีหลังเตรียมทุ่มงบจัดบิ๊กอีเวนต์ระดับโลก อาทิ นิทรรศการ ฮิโรโนะ ครั้งแรกในกรุงเทพฯ จากป๊อปมาร์ท, งานดิสนีย์ เอ็กซ์โป ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่เซ็นทรัลเวิลด์ งานส่งเสริมเทศกาลสำคัญของจังหวัดทั้งในเมืองหลัก-เมืองรอง แคมเปญใหญ่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ งานเคานต์ดาวน์ 2025

ซีพีเอ็กซ์ตร้ามองยาวเดินหน้าลงทุน

รายงานข่าวจาก บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง แม็คโคร-โลตัส ระบุว่า นโยบายบริษัทมุ่งลงทุน และขยายสาขาใหม่เพื่อสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ พร้อมส่งเสริมการจ้างงานใหม่ตามยุทธศาสตร์ระยะยาว ร่วมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่ง

นายธนิศร์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ประเทศไทย เคยกล่าวว่า มั่นใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ที่มีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว การใช้จ่ายโดยรวมคึกคักตามไปด้วย แผนบริษัทยังลงทุนขยายสาขาใหม่ รีโนเวทสาขาให้สอดรับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจ้างงานใหม่

ธุรกิจฐานรากอ่อนแอ ลามบิ๊กคอร์ป

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) กล่าวว่า เศรษฐกิจกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวกระทบต่อธุรกิจฐานราก เอสเอ็มอี แต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือบิ๊กคอร์ป ได้รับกระทบเช่นกัน หากข้อแตกต่างคือ มีสายป่านที่ยาว แต่หากกิจการรายใหญ่ตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่แข็งแกร่ง อาจเผชิญความยากลำบากได้

ทั้งนี้ บิ๊กคอร์ปต้องช่วยส่งเสริมฐานราก มี 2 มิติ คือ ยักษ์ใหญ่ผนึกพันธมิตรไปลุยต่างประเทศ แต่สิ่งที่เห็นคือ บิ๊กคอร์ปไม่มีความร่วมมือกันเอง เพราะโมเดลธุรกิจใกล้กัน อยู่ในตลาดไทยเป็นเซกเตอร์เดียวกัน อีกด้านคือมีทีมไทยแลนด์ที่จับมือกัน ขยายตลาดต่างประเทศควรพ่วงเอสเอ็มอีไปด้วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเติบโต

แนะ “เปลี่ยน-นวัตกรรม” เสริมแกร่ง

นอกจากนี้ เพื่ออยู่รอด บิ๊กคอร์ปยังต้องทำ 2 อย่าง คือ 1.เปลี่ยนแปลงปรับตัว หรือ Change และ 2.ใช้นวัตกรรมเข้าเสริมแกร่ง รวมถึงทรานส์ฟอร์มสู่สิ่งที่อยากเป็น

“จะบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่เชนจ์ และนำนวัตกรรมมาทรานส์ฟอร์มธุรกิจเป็นคัมภีร์สำคัญ ถ้าไม่มีนวัตกรรมจะไม่สามารถทำของใหม่ๆ ได้ เศรษฐกิจแบบนี้ควรทำเป็นกลุ่มด้วย”

เสนาฯ ผุดโมเดลเช่าออมบ้านช่วยลูกค้า

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยังคงโฟกัสตลาดราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เพราะเป็นดีมานด์หลักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ คนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่ถึง 50,000 บาทต่อเดือนซึ่งปัจจุบันประสบปัญหากู้ไม่ผ่านกว่า 70% ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างมุ่งทำตลาดบ้านราคาแพงล่าสุดตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย

ในฐานะผู้ประกอบการต้องปรับตัวต่อเนื่อง ทำโปรดักต์ Rent to Own หรือ เช่าออมบ้าน เปลี่ยนค่าเช่าลูกค้าเป็น “เงินออม” ใช้หักเงินต้นให้เข้ากับสถานการณ์ และช่วยเหลือลูกค้าให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์