สนค.เปิด 5 แผนรับมือ”ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ”
สนค.ประเมินการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐ ชี้หากไบเดนชนะ นโยบายเศรษฐกิจการค้ายังคงเดิมเน้นสงครามเทคโนโลยีกับจีน แต่หาก”ทรัมป์”ชนะ นโยบาย American First จะกลับอีกครั้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลก แนะ 5 แนวทาง ไทยรับมือ”ผลเลือกตั้งสหรัฐ”
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะบ่งชี้ถึงทิศทางภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี ในด้านการเมือง สหรัฐฯ นับเป็นผู้นำประเทศโลกเสรีที่กุมทิศทางการเมืองโลก และด้านเศรษฐกิจ
สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มูลค่า 27.36 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 25.95 % ของ GDP โลก และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 81,695.2 ดอลลาร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) รวมถึงยังเป็นประเทศที่มียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับ 5 (รองจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์)
การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 7 - 8 ปีผ่านมา ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากการใช้ “นโยบายสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” (American First Policy) ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชาตินิยม การคงไว้ซึ่งการเป็นมหาอำนาจ การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และการสร้างความมั่นคงของชาติ และการเริ่มทำสงครามการค้ากับจีน ที่ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกและไทยชะลอตัว หดตัวอย่างชัดเจน
ขณะที่นายโจ ไบเดน ที่มีการทำสงครามเทคโนโลยีกับจีน รวมถึงการออกพระราชบัญญัติชิปและวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ และพระราชบัญญัติการลดเงินเฟ้อ เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อและประเด็นภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศตนเอง ย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาด และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพันธมิตรในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากกระแสการเคลื่อนย้ายทางการค้าและการลงทุนของโลกที่เร่งตัวขึ้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ สนค. ประเมินว่า หากไบเดนชนะการเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม แต่หากทรัมป์ชนะ อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ 2 มิติ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ได้แก่ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง โดยเฉพาะการยกเลิก ลดการสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สิ้นสุดในไม่ช้า
แต่ในขณะเดียวกัน การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลก โดยเฉพาะ NATO อาจทำให้มีความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ปะทุได้ง่ายขึ้น ซึ่งวันนี้แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านเศรษฐกิจ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ จะเข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีน จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศ 10 % และจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60 %
ทั้งนี้ ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ไบเดน ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเฉพาะสินค้าที่ถูกพิจารณาว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ เหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงแร่ธาตุสำคัญ
นอกจากนี้ การกลับมาของทรัมป์ที่น่าจะมาพร้อมกับนโยบาย American First อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีความยากลำบากมากขึ้น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี สกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เผชิญการถอนการลงทุนออก
โดยเฉพาะบริษัทในสาขาอุตสาหกรรมสหรัฐที่ให้ความสำคัญที่ปัจจุบันยังตั้งอยู่ในจีน และบริษัทที่ได้ขยายย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาที่ภูมิภาคอาเซียน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ในช่วงก่อนหน้า อาจมีบางส่วนย้ายกลับสหรัฐฯ หรือประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้า
ทั้งนี้ไทยต้องเตรียมรับมือผลการเลือกตั้งสหรัฐฯใน 5 ด้าน คือ 1. ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งและนโยบายทางเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการต่างประเทศ ที่ผู้แทนจากทั้งสองพรรคประกาศในช่วงหาเสียงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายหรือมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไทย เพื่อปรับตัว/รับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
2. ดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้าอย่างเหมาะสม กรณีเกิดการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าที่เข้มข้นขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ อาจทำให้ปริมาณสินค้าบางส่วนไหลเข้าสู่ตลาดโลก รวมถึงไทย นอกจากนี้ อาจส่งผลให้หลายประเทศ โดยเฉพาะชาติตะวันตกใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยอาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมสำคัญภายในประเทศในกรณีที่มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในประเทศอย่างเหมาะสม
3. ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งด้านการลงทุน การผลิต และการค้า รวมถึงเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เร่งพัฒนาแรงงานฝีมือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ปรับปรุงและพัฒนากฎ ระเบียบ และข้อบังคับในการทำธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน
4. กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการแยกส่วนทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระดับรัฐบาล สถาบันวิจัย และองค์กรธุรกิจ ในการต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และการผลิตของไทย รวมถึงส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่งเพื่อขยายการค้าและการลงทุน
5. มุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ อาทิ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม