‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เป็นปรัชญามากกว่าระบบเศรษฐกิจใหม่
คำเต็มคือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นการเสนอแนวทางปรัชญาในการใช้ชีวิตทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพและดำเนินชีวิตแบบมีเหตุผล
มีความพอประมาณและมีภูมิคุ้มกันในตัว บนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม หรืออธิบายง่ายๆ คือ การเดินทางสายกลาง ไม่เป็นหนี้มากไป ไม่เป็นทุนนิยมบริโภคสุดโต่ง
“เกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งใช้อธิบายคู่กับ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กล่าวถึงการให้เกษตรกรเพาะปลูกแบบผสมผสานและผลิตเพื่อใช้เป็นสัดส่วนสูงขึ้น ถ้าผลิตได้มาก ก็ขายได้ตามความเหมาะสม และอาจพัฒนาไปตามลำดับขั้น เป็นเศรษฐกิจที่มีการค้ามากขึ้นได้ คำอธิบายของทั้ง 2 แนวคิดนี้มักเน้นที่ภาคเกษตรหรือภาคชนบท ไม่ได้เสนอเศรษฐกิจทั้งระบบ และกรอบคิดใหญ่ยังคงอยู่ที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือตลาดเสรี ที่เน้นการเติบโตแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา
คำว่า “พอเพียง” เป็นคำที่มีความหมายในเชิงให้คุณค่าที่ขึ้นอยู่กับการตีความตามอัตวิสัย (Subjective) ของคนแต่ละคน ไม่ได้เป็นคำที่มีความหมายเจาะจงที่เป็นภววิสัย (Objective) ชัดเจน เช่น คำว่า “พึ่งตนเองได้” ดังนั้น จึงถูกนักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ ชนชั้นกลางตีความไปต่างๆ นานา
ส่วนใหญ่คือการตีความแบบประนีประนอมกับแนวทางพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรม เช่น บอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ขัดกับระบบตลาดเสรี ไม่ขัดกับการส่งเสริมการลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ ไม่ขัดกับการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศ เพียงแต่ต้องไม่เน้นการเติบโตทางวัตถุอย่างสุดโต่ง หากควรพัฒนาแบบทางสายกลาง ไม่โลภ ไม่เป็นหนี้มาก
ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ซีพีกล่าวว่า “เราก็ใช้เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ ขนาดเรา ถ้าลงทุนร้อยล้านพันล้านก็ต่ำกว่าพอเพียง ถ้าแสนล้านก็เกินพอเพียง ของเราอยู่กลางๆ สักหมื่นล้าน จึงจะถือว่าพอเพียง” นี่คือตัวอย่างการต่างคนต่างตีความ จนไม่รู้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ต่างไปจากการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างไร
ถ้ามองแบบนี้เศรษฐกิจพอเพียงก็มีความหมายต่างจากทุนนิยมอุตสาหกรรมโลกาภิวัตน์ในแค่ดีกรี มากกว่าเป็นแนวทางพัฒนาทางเลือกใหม่ ที่ต่างไปจากทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกอย่างชัดเจน
ถ้าจะตีความเศรษฐกิจพอเพียงที่มีพื้นฐานมาจากเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธให้ก้าวหน้าหน่อย ควรใช้คำว่า “เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองและการแบ่งปันที่เป็นธรรม" คือสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกแบบให้ประชาชนพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการกู้ยืมและการค้าระหว่างประเทศ ปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีโครงสร้างเป็นธรรม เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันกับสังคมนิยมประชาธิปไตยระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการแบบยุโรปเหนือ
เศรษฐกิจแบบผสมที่เน้นระบบสหกรณ์ หรือการให้ประชาชนเป็นเจ้าของทุนร่วมกัน จะสร้างความเป็นธรรมได้มากกว่า โดยใช้ผสมไปกับระบบทุนนิยมของผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลางที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนมีโอกาสได้ผลตอบแทนการทำงานแบบพอเพียงอย่างทั่วถึงได้จริง มากกว่าการตีความแบบประนีประนอมกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดในยุคปัจจุบัน ที่เป็นตัวการในการส่งเสริมการบริโภค การเป็นหนี้ และความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การเอาเปรียบทั้งคนและธรรมชาติ
การพัฒนาเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ควรเน้นระบบสหกรณ์ ระบบสภาคนงานและสภาผู้บริโภค ต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายก้าวหน้า มุ่งแก้ไขข้อบกพร่องของระบบกลไกตลาดของทุนนิยมผูกขาด เช่น ปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจนเพิ่มขึ้น ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปทางโครงสร้างๆ สร้างระบบสหกรณ์ ระบบรัฐสวัสดิการสังคม ฯลฯ ที่ต่างไปจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ผูกขาดเอื้อประโยชน์คนส่วนน้อย
การที่กลุ่มชนชั้นนำอ้างว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยมนั้นคือ การบิดเบือนความจริง เพราะระบบตลาดเสรีแท้จริงมีลักษณะผูกขาด ไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมจริง ถ้าคิดในแนวนี้ คำว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง” จะเป็นแค่ไม้ประดับหรือการใช้สำนวนโวหารให้ฟังดูดี แต่ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เป็นธรรม และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมจริง
เศรษฐกิจพอเพียงจะมีความหมายในทางบวกได้ จะต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้ ทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนจน ความเป็นอยู่ต่ำกว่าระดับพอเพียง ปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น (เช่น อาหาร ที่อยู่ ยา เสื้อผ้า เครื่องใช้ การศึกษา ฯลฯ) ในระดับพอเพียงให้ได้ก่อน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เสนอปรัชญาสำหรับภาคเกษตร และเพื่อเตือนสติคนทั่วไปแบบเป็นนามธรรมอย่างกว้างๆ เท่านั้น
การจะสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ได้จริง จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาคทั้งระบบ ที่ประยุกต์ใช้สำหรับคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการในเมือง ซึ่งเป็นคนงาน, พนักงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยจำนวนมากได้ด้วย ระบบเศรษฐกิจใหม่ควรเป็นระบบผสมผสานระหว่างระบบสหกรณ์และทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม วิสาหกิจชุมชน รัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่พนักงานและประชาชนถือหุ้นใหญ่ และมีตัวแทนเป็นฝ่ายบริหารด้วย ฯลฯ
ต้องปฏิรูปทั้งระบบเศรษฐกิจการเมืองอย่างแท้จริง จึงจะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจที่พอเพียงสำหรับคนจนส่วนใหญ่ได้ และต้องทำให้ก้าวหน้าควรใช้แนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อระบบนิเวศ ที่ลดการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
หากจะทำให้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (และเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ) เป็นไปในทางบวก เราจะต้องเปิดใจกว้าง วิเคราะห์เศรษฐกิจสังคมไทยอย่างเป็นจริง พัฒนาต่อยอดจากคำเริ่มต้นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้กับภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการ และภาคที่สัมพันธ์กับต่างประเทศได้ด้วย
อาจจะใช้คำว่า เศรษฐกิจแบบสหกรณ์ การพึ่งพาตนเอง เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อให้มีความหมายที่ครอบคลุมและสะท้อนความเป็นระบบเศรษฐกิจ (ที่มีระบบการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ชัดเจน) ได้มากกว่า