'สุริยะ' เตรียมลงนาม BEM ลุย 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' 18 ก.ค.นี้
“สุริยะ” เตรียมลงนามสัญญา BEM 18 ก.ค.67 นี้ ปิดตำนานประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” คว้างานโยธา และเดินรถทั้งเส้นทาง เร่งเปิดให้บริการเฟสแรกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี พร้อมเจรจาเข้าร่วมนโยบาย 20 บาทตลอดสาย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (16 ก.ค.67) โดยระบุว่า วันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับกลุ่ม BEM ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการนัดลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูล โดยเบื้องต้นมีกำหนดนัดเวลา 14.00 น.ของวันที่ 18 ก.ค.67 นี้ ซึ่งตนจะเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ทราบว่าขณะนี้ทางกลุ่ม BEM มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ โดยทาง รฟม.มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ขณะที่การเดินรถช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ทราบว่าปัจจุบันงานโยธาแล้วเสร็จ โดยตนจะเจรจากับเอกชนให้เร่งรัดเตรียมพร้อมเปิดเดินรถ อีกทั้งตนมีความตั้งใจจะเจรจากับเอกชนให้นำโครงการนี้เข้าร่วมนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีวงเงินลงทุนรวม 1.4 แสนล้านบาท โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดยกลุ่ม BEM ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (16 ก.ค.67) เห็นชอบผลคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ ถึงมีนบุรี ตามที่คณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (PPP) เสนอหลังจากที่เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องซึ่งขั้นตอนทางกฎหมายถือว่าเรียบร้อยแล้ว
โดยโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ประชาชนรอคอย และคาดหวังกระทรวงคมนาคม ให้ฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้มีการหารือกับภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โครงการนี้โดยเร็วที่สุด โดยในส่วนที่มีการก่อสร้างเสร็จแล้วทั้งในส่วนของราง และสถานี ก็จะมีการเปิดบริการก่อนเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมเรื่องขบวนรถ และเรื่องของระบบอาณัติสัญญาณนั้น
“เรื่องนี้เป็นส่วนของนโยบายในส่วนที่ผมกำกับดูแลเมื่อมีการดำเนินการในโครงการต่างๆ มีความคืบหน้า รวมทั้งในส่วนของรถไฟทางคู่ เมื่อสามารถเปิดใช้งานได้ก็ให้มีการใช้งานบางส่วนก่อนได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีความเห็นว่า ครม. ไม่ควรพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี นั้น รมช.คมนาคม ยืนยันว่า ครม.ได้มีมติรับทราบร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว โดยเห็นว่าเป็นการลงทุนในลักษณะ PPP
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์