BEM ซื้อรถไฟฟ้าล็อตใหญ่ 51 ขบวน สายสีส้ม - น้ำเงิน จับตา 'Siemens-JTREC'
BEM สั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าล็อตใหญ่ปีนี้ 51 ขบวน เสริมสายสีน้ำเงิน เตรียมเดินรถสายสีส้ม มั่นใจเร่งติดตั้งระบบเปิดให้บริการเฟสแรก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ปลายปี 2570 ขณะที่ รฟม.เล็งออก NTP ดันก่อสร้างฝั่งตะวันตกทันที กำหนดค่าโดยสารกำหนด 17- 42 บาท
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เริ่มเดินหน้าแล้วหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการประมูลและร่างสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2567
แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน คือ
1.งานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์)
2.งานเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุง ตลอดเส้นทาง (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี)
ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
กระทรวงคมนาคมจัดให้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2567 ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูล โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุน
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ BEM อยู่ระหว่างคัดเลือกเทคโนโลยีเพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้ารวม 51 ขบวนภายในปีนี้ นำมาให้บริการส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวน 30 ขบวน และเสริมให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 21 ขบวน
ทั้งนี้ BEM จะทำการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าพร้อมกันในทีเดียว และคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 ปี ทยอยรับมอบส่วนแรกเพื่อให้บริการรถไฟฟ้า ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปลายปี 2570
ขณะที่งานโยธา ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ปัจจุบัน BEM เตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ เครื่องจักร และแรงงาน มั่นใจว่าจะเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างได้ทันที ส่วนเรื่องวงเงินลงทุนขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะได้เงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ โดย BEM ประเมินว่าจะทยอยลงทุนเป็นระยะเวลา 6 ปี ดังนั้นวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จึงคาดว่าจะทยอยลงทุนเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท
จับตา BEM เลือกยี่ห้อรถไฟฟ้า
รายงานข่าวระบุว่าปัจจุบัน BEM ได้สัมปทานลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ-ท่าพระ) โดยเริ่มเดินรถช่วงแรกหัวลำโพง-บางซื่อ มาตั้งแต่ปี 2547 ใช้รถไฟฟ้าของบริษัท Siemens
รวมทั้งเมื่อเปิดเดินรถส่วนต่อขยายหัวลำโพง-หลักสอง และช่วงเตาปูน-ท่าพระ ได้สั่งซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัท Siemens เมื่อปี 2560 รวม 35 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ เริ่มรับมอบรถในเดือนเม.ย.2562
นอกจากนี้ BEM ได้รับสัมปทานการลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) โดยมีรถไฟฟ้า 21 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ โดยสั่งซื้อผ่านกลุ่มกิจการร่วมค้ามารุเบนิ-โตชิบา และมีบริษัทเจแปน ทรานสปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (J-TREC) เป็นผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้า
สำหรับการตัดสินใจเลือกใช้รถไฟฟ้าของญี่ปุ่นทำให้ BEM ต้องจัดอะไหล่สำรองเพิ่ม 1 ชุด แยกจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ใช้ของ Siemens แต่รถไฟฟ้าจากญี่ปุ่นราคาจะถูกกว่าเกือบ 5% ทั้งนี้ หาก BEM เลือกรถไฟฟ้าของบริษัทอื่นนอกเหนือจาก Siemens และ J-TREC จะทำให้ต้องจัดอะไหล่สำรองเพิ่มอีก 1 ชุด
เปิดบริการสายสีส้มช่วงมีนบุรีปี 70
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้หารือร่วมกับ BEM ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้เร่งรัดจัดหาขบวนรถไฟฟ้ามาเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในสิ้นปี 2570 เนื่องจากงานโยธาส่วนนี้ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ และพร้อมให้บริการ
ขณะเดียวกันได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างงานส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ให้มีความปลอดภัยสูงสุด โดยเบื้องต้นทราบว่าปัจจุบัน รฟม.เตรียมพื้นที่งานก่อสร้างเรียบร้อย และคาดว่าจะออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ให้เอกชนได้ภายในเดือนก.ค.นี้
รวมทั้งหลังจากนั้นเอกชนจะจัดเตรียมเครื่องมือ และอุปกรณ์งานก่อสร้าง และคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะเริ่มงานก่อสร้าง เพื่อผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้เปิดบริการตลอดแนวเส้นทางภายในปี 2573
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นับเป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะทราบว่าขณะนี้ธนาคารกรุงเทพตกลงปล่อยกู้ให้กับ BEM แล้ว 100% นั่นแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นในโครงการนี้" นายสุริยะ กล่าว
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวมีการลงทุนระดับ 1 แสนล้านบาท กระทรวงคมนาคมเชื่อว่าจะกระตุ้น GDP ให้กับประเทศได้ 0.1% และเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 30,000 คน และเงินสะพัดจากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอีก 80,000 ล้านบาท
ดึงสายสีส้มเข้านโยบาย 20 บาทตลอดสาย
นายสุริยะ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงคมนาคมจะนำเข้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งทราบว่าทางเอกชนมีสัญญากำหนดให้จัดเก็บค่าโดยสาร 17-42 บาท
ดังนั้นส่วนต่างอัตราค่าโดยสารที่เกินจาก 20 บาทขึ้นไป ภาครัฐจะสนับสนุนโดยนำเงินชดเชยมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมที่เตรียมจัดตั้งขึ้นหลัง พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเสนอ ครม.ภายในเดือนก.ค.2567 ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังเป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งบรรเทาปัญหาจราจร และมลพิษทางอากาศ ตลอดจนช่วยขยายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออก หรือในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์