เปิดความเห็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม 9 หน่วยงาน 'คลัง' ห่วงความคุ้มค่า

เปิดความเห็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม 9 หน่วยงาน 'คลัง' ห่วงความคุ้มค่า

ครม.อนุมัติสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม 9 หน่วยงานให้ความเห็น “คลัง” ห่วงความคุ้มค่าหลังรัฐอุดหนุนเงินเอกชน สศช.แนะเร่งเปิดบริการฝั่งตะวันออก

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ก.ค.2567 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้บรรจุวาระผลการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากมีหน่วยงานให้ความเห็นเพียงพอที่ ครม.จะพิจารณา

ทั้งนี้ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาทประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 

1.งานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ 

2.งานเดินรถไฟฟ้า ตลอดเส้นทาง (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม.เห็นชอบสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับกลุ่ม BEM ซึ่ง รฟม.จะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลวันที่ 18 ก.ค.2567 เวลา 14.00 น. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเป็นประธานในพิธี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หน่วยงานต่างๆ ได้เสนอความเห็นเข้าสู่ที่ประชุม ครม.รวม 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1.) กระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการตรากฎหมายหรือการดำเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ 

ดังนั้น การพิจารณาควรคำนึงความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 

2.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของ ครม.ที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ตามที่เห็นสมควร

3.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เห็นว่าหาก รฟม.ยืนยันว่าสามารถดำเนินการตามข้อสังเกตของ อส.ได้ ในชั้นนี้จึงไม่มีความเห็นใดเพิ่มเติมอีก

4.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ความเห็นว่าเร่งรัดการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและการก่อสร้างงานโยธาโครงการส่วนตะวันตกรวมทั้งการจัดหาระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้เปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้โดยเร็ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายการดูแลงานที่แล้วเสร็จ (Care of Works) ของโครงการส่วนตะวันออก เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการต่อไป

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการร่วมลงทุนขอให้ รฟม.คำนึงถึงเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562

5.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่าเห็นชอบให้ รฟม.รับข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคมที่ได้มอบหมายให้ รฟม.ดำเนินการให้โครงการมีประสิทธิภาพ รอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเห็นควรมอบหมายให้คมนาคม และ รฟม.พิจารณาแนวทางการเจรจากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนปรับแผนดำเนินงาน และเร่งรัดดำเนินให้เสร็จก่อนกำหนด 

โดยเฉพาะการจัดหา และติดตั้งงานระบบไฟฟ้า และรถไฟฟ้า เพื่อเปิดบริการส่วนตะวันออกได้เร็ว ซึ่งจะลดภาระค่าใช้จ่ายดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐาน (Care of Works) และปรับแผนการก่อสร้างส่วนตะวันตกให้เปิดบริการสถานีที่พร้อมให้บริการได้ก่อน (Phasing) ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 

รวมถึงปรับพฤติกรรมการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะตามที่คาดการณ์ไว้ และรองรับความต้องการเดินทางของประชาชนตามเป้าหมาย

รวมทั้งพิจารณากำหนดกลไกหรือตัวชี้วัดที่เหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องลงทุนจัดหารถไฟฟ้าเพิ่มเติม และการบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานตลอดอายุโครงการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการตามมาตรฐาน และระดับคุณภาพการให้บริการ (Level of Service) ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ อาจพิจารณาถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญารถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม.ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้ รฟม.และคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 กำกับและบริหารสัญญาร่วมลงทุนได้มีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งเสนอ พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ.... ให้ ครม.พิจารณาโดยเร็วเพื่อขับเคลื่อนระบบบัตรโดยสารร่วม และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในระบบขนส่งสาธารณะ โดยนำร่องระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้เป็นรูปธรรมเร็ว ซึ่งจะสนับสนุนประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย

6.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ความเห็นว่าเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกเอกชน คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติไม่รับหรือยกเรื่องกล่าวหาขึ้นพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ข้อ 45 (1) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2560 มาตรา 54 (2)

7.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

8.) สำนักงบประมาณ เห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

9.) กระทรวงวัฒนธรรม เห็นว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแห่งรัฐเป็นสำคัญ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์