BEM รุก BTS ขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า จับตาศึกรอบใหม่ชิง 'สายสีม่วงใต้'
เปิดโครงข่ายรถไฟฟ้าทั่วเมือง BEM คว้างานโยธาและบริหารเดินรถ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ดันเส้นทางใยแมงมุมครอบคลุมกว่า 100 กิโลเมตร เบียด BTS ที่ให้บริการรวม 135 กิโลเมตร พร้อมจับตาเปิดศึกรอบใหม่ชิง “สายสีม่วงใต้” ขยายโครงข่ายเพิ่ม 23.63 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นับเป็นอีกหนึ่งก้าวในการขยายธุรกิจรถไฟฟ้าของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งล่าสุดเป็นผู้คว้าสัมปทานบริหารโครงการดังกล่าว ได้สิทธิบริหารงานเดินรถไฟฟ้า 30 ปี เพิ่มระยะทางให้บริการรถไฟฟ้าอีก 35.9 กิโลเมตร รวมระยะทางรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหารของ BEM ในปัจจุบัน 106.9 กิโลเมตร ประกอบด้วย
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย
ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร
ช่วงหัวลำโพง - บางแค ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร
ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สถานีคลองบางไผ่ – สถานีเตาปูน ระยะทาง 23 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น
ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร
ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร
ขณะที่โครงข่ายรถไฟฟ้าในมือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ปัจจุบันได้รับสัมปทานรวมระยะทาง 138 กิโลเมตร โดยเปิดให้บริการแล้วในระยะทาง 135 กิโลเมตร ประกอบด้วย
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะทาง 68.25 กิโลเมตร แบ่งเป็น
โครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก
สายสุขุมวิท หมอชิต – อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร
สายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1
ส่วนต่อขยายสายสีลม สะพานตากสิน – บางหว้า ระยะทาง 7.45 กิโลเมตร
ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท อ่อนนุช – แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2
ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ แบริ่ง – เคหะฯ ระยะทาง 13 กิโลเมตร
ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ หมอชิต – คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 กรุงธนบุรี – คลองสาน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร
ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยถึงความคืบหน้าขยายโครงข่ายระบบรางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยระบุว่า ภายหลังลงนามสัญญาร่วมลงทุนในโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการคัดเลือกเอกชนบริหารงานเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่มีระยะทาง 23.63 กิโลเมตร และสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา
ดังนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จึงนับเป็นโครงการถัดไปที่ รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดยก่อนหน้านี้ รฟม.เคยออกมาระบุว่า รูปแบบของการร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็มีโอกาสที่จะเปิดร่วมทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ ที่ทางภาครัฐเป็นผู้รับความเสี่ยง กรรมสิทธิ์จัดเก็บรายได้จะยังเป็นของภาครัฐ ส่วนเอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง และภาครัฐจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตามสัญญา
ดังนั้นต้องจับตาดูว่า หาก รฟม.เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ด้วยรูปแบบ PPP Gross Cost กลุ่ม BEM ซึ่งเป็นเอกชนที่มีสัญญาจ้างเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่อยู่ในปัจจุบัน จะมีโอกาสในการเจรจา หรือเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้อย่างไร หรือ รฟม.จะเปิดประกวดราคารอบใหม่เพื่อคัดเลือกเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารสัญญาเดินรถ