ลุ้นระทึก 'เงินดิจิทัล' จ่ายทัน ต.ค. งบค้างสภา 4 แสนล้าน ระบบชำระเงินไม่พร้อม
"พิชัย" แถลงเปิดลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตวันนี้ ลุ้นเริ่มจ่ายได้ทันเดือน ต.ค.หรือไม่ หลังงบค้างในสภาฯ 4 แสนล้านบาท มีเงินในมือรัฐบาลแค่ 4.3 หมื่นล้าน จากงบกลาง “ดีจีเอ” ยังไม่ประมูลระบบชำระเงิน “ภูมิธรรม” มั่นใจแจกทัน ต.ค.นี้ เผยสินค้า และร้านค้าที่เข้าร่วมมีจำนวนมาก
KEY
POINTS
- รัฐบาลจัดแถลงข่าวความคืบหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในวันนี้ (24 ก.ค.67) โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังแถลง
- ความพร้อมที่จะแถลงคือวันที่แน่นอนที่ให้ประชาชนลงทะเบียนเบื้องต้นคือวันที่ 1 ส.ค.67 ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมีการแถลงข่าวอีกครั้งในเดือนส.ค.
- โครงการยังมีความท้าทาย และไม่แน่นอนหลายข้อ โดยเฉพาะในเรื่องของแหล่งเงินที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาฯ กว่า 4 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลมีงบกลาง 67 4.3 หมื่นล้านบาท
- ส่วนระบบชำระเงินในโครงการ รัฐบาลให้งบประมาณ DGA ไปดำเนินการ 95 ล้านบาท "อยู่ในระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ" ซึ่งระบบชำระเงิน ธปท.มีความเห็นห่วงว่าจะมีปัญหาตามมา ขอให้รัฐบาลรายงาน ธปท.ก่อนใช้ 15 วัน
"โครงการเติมเงิน 10,000 บาท" ในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลมีกำหนดจะขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรมหลังจากที่ใช้ความพยายามในการผลักดันนโยบายนี้มาตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือน โดยจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในวันที่ 1 ส.ค.2567
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมที่จะแถลงข่าวคิกออฟโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในวันที่ 24 ก.ค.2567 เวลา 10.00 น.ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้แถลงข่าวหลักในโครงการจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นนายพิชัย โดยกำหนดแถลงในหัวข้อ “ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้”
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การเตรียมความพร้อมของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตล่าสุดรัฐบาลมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2567 เพื่อสรุปรายละเอียดของโครงการก่อนที่จะแถลงต่อประชาชนในวันที่ 24 ก.ค.2567 และจะนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 ก.ค.2567
สำหรับรายงานการประชุมของคณะกรรมการฯ บอกถึงการเตรียมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใน 2 ส่วนที่รัฐบาลจะต้องมีความพร้อม ได้แก่
1.การเตรียมความพร้อมเรื่องแหล่งเงินในโครงการ
2.การเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบการลงทะเบียน และระบบการชำระเงิน (Payment Platform) ของโครงการ
รายงานข่าวระบุว่า แม้ว่าจะมีการแถลงข่าวโครงการในวันที่ 24 ก.ค.2567 แต่พบว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่มีความพร้อมในหลายส่วน ดังนี้
1.วงเงินงบประมาณที่จะใช้ในโครงการซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ปรับขนาดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหลือ 450,000 ล้านบาท จากเดิม 500,000 ล้านบาท โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงการปรับวงเงินลงของโครงการนี้เป็นไปตามสถิติการลงทะเบียนที่คาดว่ามีจะไม่เกิน 90% โดยจะปิดการลงทะเบียนก่อนสิ้นเดือนก.ย.2567
รัฐบาลมีเงินในมือแค่ 4.3 หมื่นล้าน
ทั้งนี้แหล่งเงินในโครงการ 450,000 ล้านบาท ที่มีการปรับปรุงล่าสุดมีแหล่งเงิน ดังนี้ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท , การบริหารจัดการงบประมาณในปี 2567 และงบกลางปี 2567 วงเงิน 43,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 โดยตั้งงบประมาณ 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบประมาณกลาง และงบประมาณส่วนที่หน่วยงานใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท
ทั้งนี้การปรับวงเงินมาจากข้อเสนอ และข้อห่วงใยจากหน่วยงานตรวจสอบ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังเรื่องการจัดตั้งงบประมาณที่มีความเหมาะสม
โดยระบุว่าการตั้งงบประมาณที่มากเกินไปจะเป็นการเสียโอกาสในการใช้งบประมาณของหน่วยงานอื่นสำหรับงบประมาณในส่วนนี้ยังมีความไม่แน่นอนในส่วนของการจัดหาแหล่งเงินเนื่องจากมีงบประมาณที่ยังต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท และงบประมาณที่เป็นงบประมาณกลางปี 2568 ที่ตั้งไว้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 152,700 ล้านบาท ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ห่วงจัดงบ เพิ่มเติมปี 2568
ขณะที่งบประมาณอีกส่วนที่จะใช้การบริหารจัดการจากงบประมาณปี 2568 วงเงิน 132,300 ล้านบาท ที่ใช้ไม่ทันนั้นในส่วนนี้ยังมีคำถามอีกว่ารัฐบาลจะสามารถตัดทอนงบประมาณของหน่วยงาน และกระทรวงอื่นได้หรือไม่
หรืออาจจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2568 เหมือนที่เคยทำในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้นในส่วนของงบประมาณของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีอยู่ในมือรัฐบาลแน่นอนจริงมีเพียง 43,000 ล้านบาท ที่เป็นงบกลางปี 2567 เท่านั้น
ระบบชำระเงินยังไม่พร้อมใช้งาน
2.ความพร้อมของระบบลงทะเบียน และระบบการชำระเงิน ซึ่งในวันที่ 1 ส.ค.2567 จะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน จากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ จะเปิดให้ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการลงทะเบียน โดยในส่วนของระบบในโครงการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนแรกเป็นระบบลงทะเบียนประชาชนและร้านค้า และส่วนที่ 2 เป็นระบบการชำระเงิน โดยส่วนที่มีความพร้อมในขณะนี้คือ ระบบลงทะเบียนของประชาชน
ก่อนหน้านี้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เปิดเผยถึงความพร้อมการลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ว่าระบบการลงทะเบียนของประชาชนมีความพร้อมแล้ว 100% เพราะระบบนี้คือ ระบบที่พัฒนามา 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยจะทำการยืนยันตัวตนออนไลน์ผ่านระบบที่เรียกว่า “KYC” ได้อยู่แล้ว
ยังไม่เปิดประมูลระบบชำระเงิน 95 ล้าน
ขณะที่ระบบการชำระเงิน (Payment Platform) เป็นระบบที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวลว่าจะมีความพร้อมหรือไม่ โดยขณะนี้ระบบแพลตฟอร์มการชำระเงินที่ ครม.อนุมัติให้ DGA ไปดำเนินการในกรอบงบประมาณโครงการรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 95 ล้านบาท
รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการเงินร่วมมือกับ DGA ในการสนับสนุนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการในระยะแรก 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) ช่วงเดือนก.ค.- ก.ย.2567 จัดซื้อจัดจ้าง และประชุมเชิงปฏิบัติการ ส่วนช่วงเดือนก.ค.- ธ.ค.2567 ดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ และช่วงเดือนต.ค.2567 - มี.ค.2568 เริ่มการใช้งาน
จากการตรวจสอบแผนงานพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) วงเงิน 95 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินของประชาชนจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท อยู่ในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ
สำหรับโครงการที่ DGA มีการคัดเลือกเอกชนที่จะมาดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ 1.งานโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Government Super App) โดยบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 27.3 ล้านบาท และ 2.โครงการพัฒนาระบบลงทะเบียนร้านค้า บริษัท เด็พธเฟิร์สท จำกัด ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 4.69 ล้านบาท
แบงก์ชาติห่วงระบบชำระเงิน
นอกจากนี้ ประเด็นระบบการชำระเงินในโครงการนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความเป็นห่วงมาโดยตลอด และได้ส่งหนังสือเตือนถึงรัฐบาล รวมถึงได้ส่งหนังสือประกอบการพิจารณาของ ครม.ในการอนุมัติให้ DGA พัฒนาแพลตฟอร์มระบบชำระเงิน
ทั้งนี้ ธปท.ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีการจัดทำระบบ และแอปพลิเคชัน เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทั้งการลงทะเบียน การเชื่อมต่อระบบกับสถาบันการเงิน การโอนเงิน และการชำระเงินในโครงการ ควรตรวจสอบระบบให้รอบคอบก่อนนำไปใช้งานจริง และก่อนใช้ต้องแจ้งให้ ธปท.รับทราบก่อน 15 วัน
รวมทั้งยังแสดงความกังวลต่อระบบ Open Loop ซึ่ง ธปท.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศมีข้อห่วงใยในการพัฒนา และดำเนินการระบบ เช่น ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่มีความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ด้วย
ขณะที่ในประเด็นผู้พัฒนาระบบ (Developer) ต้องมีความรู้ และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-loop เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้น และดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด
ทั้งนี้ตัวอย่างที่ผ่านมา ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี
รวมทั้งกังวลเกี่ยวกับระบบลงทะเบียนที่ต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้ โดยได้ยกตัวอย่างการลงทะเบียนยืนยันตัวตนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งได้กำหนดให้มีการยืนยันตัวตน 9 รอบ และตรวจสอบสิทธิรอบละ 7 วัน
“ภูมิธรรม”มั่นใจแจกเงินได้ ต.ค.นี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้เป็นเรื่องของการดำเนินการ และการปฏิบัติของแต่ละฝ่าย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำผลสรุปของสินค้าไหนจะเข้าร่วมโครงการก็มีความคืบหน้าไปมาก และคาดว่าภายในเดือนต.ค.2567จะได้จ่ายเงินเรียบร้อยตามกระบวนการที่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการก็มีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน รวมถึงสินค้าต้องห้ามที่ขอให้รอการชี้แจงในวันที่ 24 ก.ค.2567 และหลังจากนี้ 1 สัปดาห์ กระทรวงพาณิชย์จะชี้แจงเรื่องร้านค้า
ร้านค้าเข้าโครงการจำนวนมาก
ทั้งนี้ปัจจุบันมีร้านค้าตอบรับการลงทะเบียนแล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสมาคมค้าปลีกกว่า 50,000 ร้านค้า ร้านธงฟ้าประมาณ 148,000 ร้านค้า ร้านอาหารธงฟ้าอีกประมาณ 5,000 ร้านค้า ขณะนี้เริ่มทยอยติดต่อ โดยแยกการทำงานทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดูแลหาบเร่แผงลอยที่ตอบรับแล้วประมาณ 500,000 แผง
ส่วนประเด็นที่ร้านค้ารายย่อยจะลงทะเบียนได้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า จะมีการชี้แจง และทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอน และได้เข้าใจหมด รวมถึงจะมีคอลเซ็นเตอร์สอบถาม ขณะเดียวกันร้านสะดวกซื้อ อย่างเช่นร้านค้า 7-11 เข้าใจว่าจะร่วมโครงการได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์