ปิดจ๊อบนโยบายแสนล้านส่ง“ข้าว” เมล็ดสุดท้ายจากโครงการจำนำสู่ท้องตลาด
มื่อวันที่ 19 ก.ค.2567 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกประกาศรายชื่อผู้ที่เสนอราคาซื้อสูงสุด การจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐเป็นการทั่วไปครั้งที่ 1/2567 โดยข้าวที่ประกาศขายกันนี้ คือ “ข้าว10ปี” ที่เป็นดราม่า สนั่นเมืองเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา
สำหรับผลการจำหน่ายข้าวได้แก่ บริษัท สหรัญ จำกัด ปริมาณ 3,356 ตัน และบริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด ปริมาณ 11,656 ตัน รวม 1.5หมื่นตัน ซึ่งเป็นข้าวที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวอันลือสั่งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ10 ปีที่ผ่านมา
การขายข้าวครั้งนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพ.ค. แต่ก็ยือเยื้อมานานเพราะผู้ชนะประกาศถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนนำไปสู่การตัดสิทธิผู้เข้าร่วมประมูลไป 3 ราย กระทั่งได้ผู้ชนะที่สุด 2 รายตามประกาศอคส. ซึ่งมีรายละเอียดการซื้อข้าวมูลค่าที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่คลังหลวงประมาณ 244 ล้านบาท
บริษัทรัพย์แสงทอง ไรซ์ จำกัด จ.สุพรรณบุรี ที่เสนอราคาในคลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) ปริมาณข้าว 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ วงเงิน 182,046,000 บาท เฉลี่ย 15.617 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) โดยบริษัททรัพย์แสงทองไรซ์ได้เสนอราคาใหม่ที่ 18 บาทต่อต่อกก. หรือเฉลี่ย 3 บาทต่อกก.
แม้ว่าราคาที่เสนอต่ำกว่า บริษัทวีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง ที่เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด แต่บริษัทมีความน่าเชื่อถือ และดำเนินกิจการมายาว
นานและมั่นคงกว่า ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาในการชำระค่าข้าว ซึ่งอคส. พร้อมแจ้งให้บริษัททราบผลทันที
ส่วนคลังพูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) ปริมาณข้าว 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ บริษัทที่ได้ คือ บริษัท สหธัญ จำกัด เสนอราคา 62,734,711.23 บาท เฉลี่ย 18.690 บาท/กก.
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ผลการต่อรองราคาข้าวสารค้างเก่า 10 ปีกับบริษัทที่ไม่มีปัญหาด้านคุณสมบัติเสร็จสิ้นแล้ว โดยภายในวันที่ (19 ก.ค.) อคส. จะออกหนังสือแจ้งบริษัทผู้ชนะประมูล และในวันที่ 23 ก.ค.67 ผู้ชนะประมูลเข้ามาทำสัญญาและวางหลักประกันสัญญา 5% (ภายใน 15 วัน)และระหว่างวันที่ 15 ส.ค.-13 ก.ย.67 ชำระเงินและรับมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวในครั้งนี้ คาดว่ารัฐจะได้เงินเข้าคลังมากกว่า 244 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้กระบวนการขายข้าวแค่ 1.5 หมื่นตันล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ร่วมเสนอซื้อที่หละหลวม ทำให้บริษัทที่มีประวัติเกี่ยวพันกับคดีค้าเก่ากับอคส. เข้ามาร่วมประมูล จนต้องมีขั้นตอนการพิสูจน์ทราบและตัดสิทธิในเวลาต่อมา
แต่หากพิจารณาเฉพาะผลประมูลจะพบว่า กระทรวงพาณิชย์สามารถต่อรองให้เอกชนเสนอราคาที่ค่อนข้างสูงสำหรับการซื้อข้าวล็อตนี้ได้อย่างน่าพอใจ แม้จะใช้เวลาและมีข้อกังขาต่างๆจำนวนมากก่อนหน้านี้
ทั้งนี้คาดว่า บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด จะนำข้าวที่ประมูลได้ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ส่งออกต่างประเทศ แต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงข้าวก่อน เนื่องจากบริษัทฯ มีความชำนาญในการปรับปรุงข้าว
สำหรับ บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2562 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี มีกรรมการบริษัทประกอบด้วย นายธวัชชัย อู่แสงทอง เป็นเจ้าของโรงสีทรัพย์แสงทอง
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ผลประกอบการของบริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด ช่วง 3 ปี 2564-2566 พบว่า บริษัทกำไรสะสมต่อเนื่อง โดยปี 2564 บริษัทมีกำไร 137,163.68 บาท ,ปี2565 กำไร1,752,673.57 บาท และ ปี2566 กำไร 6,935,552.12 บาท
ส่วนบริษัท สหธัญ จำกัด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2553 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีกรรมการบริษัทประกอบด้วย นายปฐวี วงษ์พิทักษ์โรจน์ และมีนายพสิษฐ สิริภัรประจักษ์ น.ส.ศิญารัตน์ ฐิติอารีย์กุล และนายบัณณวิชญ์ ฐิติอารีย์กุล เป็นผู้ถือหุ้น
แม้จากการสืบค้นจะไม่พบว่า นายปฐวี วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นใครมาจากไหน แต่สำหรับนามสกุล “วงษ์พิทักษ์โรจน์” เป็นนามสกุลของนายวุฒิพงษ์ วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานบริษัทในเครือวงษ์พิทักษ์ นักธุรกิจคอนกรีตรายใหญ่ในจังหวัดราชบุรี และมีลูกชายคือ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นประธาน กมธ.อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ผลประกอบการของบริษัท สหธัญ จำกัด ช่วง 3 ปี 2564-2566 พบว่าบริษัทขาดทุนสะสมต่อเนื่อง โดยปี 2564 บริษัทขาดทุน 1,022,675.60 บาท ปี2565 ขาดทุน 846,916.36 บาท และปี2566 ขาดทุน 5,705,840.47
ย้อนกลับมาที่ ที่มาของข้าวล็อตสุดท้ายจากโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาทเมื่อสิบปีที่ผ่านมามีการประเมินว่า ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวที่กำหนดราคารับจำนำ (รับซื้อ) ข้าวทุกเมล็ดตันละ 15,000 บาท (ข้าวเจ้าความชื้น 15%) ช่วงดำรงตำแหน่ง 2554-2557 และหากรวมนโบายจำนำข้าวในส่วนของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวม 6 โครงการ ตั้งแต่ปี การผลิตนาปี51/52 ไปจนถึง นาปี 2556/57 มูลค่าความเสียหายจะอยู่ที่ 7.8 แสนล้านบาท (787,209,942,122 บาท ) ปริมาณข้าว 51 ล้านตัน
ทั้งนี้ การจำนำข้าวตั้งแต่ฤดูกาลผลิต นาปี 2551/52 ปริมาณ 3.5 ล้านตัน มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท นาปรัง ปี 2552 ปริมาณ 3 ล้านตัน มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท นาปี 2554/55 ปริมาณ4.9 ล้านตัน มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท
จากนั้นก็เข้าสู่นโยบายการจำนำข้าวทุกเมล็ดของพรรคเพื่อไทย ทำให้นาปรังปี 2555 ปริมาณ 11 ล้านตัน มูลค่า 1.68 แสนล้านบาท และปริมาณข้าวสูงสุดอยู่ที่ นาปีและนาปรัง ปี 2555/56 ปริมาณ 18 ล้านตัน มูลค่า2.8 แสนล้านบาท จากนั้นปี 2556/57 ปริมาณ 9.9 พันตัน มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท
“หากนับเฉพาะโครงการรับจำนำในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประเมินความเสียหายไว้ที่ 7.0 แสนล้านบาท (701,237,831,765 บาท ) ปริมาณข้าวอยู่ที่ 44 ล้านตัน (44,663,247 ตัน)”
โครงการขนาดใหญ่นำไปสู่“คดีทุจริต” จำนวนมาก โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1.คดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกนักการเมืองและข้าราชการกรมการค้าต่างประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างไต่สวนคดีข้าวจีทูจีรอบ 2 ที่มีมูลเหตุจากการลงนามขายข้าวให้เอกชนชนจีนครั้งที่ 2 รวม8 สัญญาขายข้าว 14 ล้านตัน ให้เอกชนจีน 4 บริษัท
2.คดีที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ซึ่งมีทั้ง คดีจำนำข้าวทั้งแพ่ง-อาญาที่ครอบคลุมการดำเนินโครงการ ตั้งแต่ปีการผลิตข้าวนาปี 2554/55 ถึงปีการผลิต 2556/57 รวม 5 โครงการ ครอบคลุมการจำนำข้าวเปลือก 56 ล้านตัน วงเงิน 8.84 แสนล้านบาท ซึ่อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ส่งสำนวนให้อัยการเพื่อฟ้องแพ่งและอาญาจากปัญหาข้าวหาย ข้าวเสื่อมสภาพและข้าวไม่ตรงบัญชี
สำหรับคดีที่ อคส.ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานที่คู่สัญญาของ อคส. กระทำผิดสัญญา เช่น ทำข้าวหาย ข้าวเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น ส่งให้พนักงานอัยการครบทั้งหมด 246 สัญญาแล้ว แบ่งเป็น คดีของเจ้าของโกดังทำผิดสัญญา 167 สัญญา ส่งอัยการเมื่อเดือน พ.ย.2561 และคดีของเซอร์เวเยอร์ อีก 79 สัญญา ส่งอัยการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2561 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่อคส.เรียกจากคู่สัญญาสูงถึงกว่า 300,000 ล้านบาท
ส่วนคดีอาญาที่เกิดจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปี2551/52 ,ปี2554/55 ,ปี2555/56 และปี2556/57 รวม 884 คดีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันกระทำผิด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึงราว 115,000 ล้านบาท
“การดำเนินคดีและการยึดทรัพย์ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมีข้าราชการกระทรวงพาณิชย์จะถูกเรียกไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกือบทุกครั้งที่มีการสืบทรัพย์พบ โดยสาระสำคัญที่ต้องไปให้ข้อมูลคือการชี้แจงเรื่องยุทธศาตร์ระบายข้าวที่เป็นเหมือนต้นเรื่องของการพิจารณาคดีต่างๆ ซึ่งข้าราชการกระทรวงพาณิชย์หลายคนแม้แต่ที่เกษียณไปแล้วก็ต้องเข้าให้ข้อมูลลักษณะนี้เช่นกันคาดว่ามูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้น่าจะมีอยู่ประมาณหลายพันล้านบาทเท่านั้น”
แม้ปัจจุบันจะไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว และข้าวเมล็ดสุดท้ายกำลังจะออกสู่โกดังและเข้าสู่ตลาดซึ่งเท่ากับเป็นการจบมหากาพย์รับจำนำข้าวที่ที่ไม่เพียงสร้างความเสียหายเชิงนโยบายที่ใช้เงินมหาศาลเท่านั้น แต่ยังได้ก่อให้เกิดการทุจริตในรูปแบบต่างๆอย่างมาก
ทำให้การดูแลสินค้าทางการเกษตร“ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรมากกว่า 3.5 ล้านคนทั่วโลก โดยประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออก
ข้าวที่สำคัญของโลก มีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 50% ของพื้นที่เพาะปลูกของประเทศ และมีชาวนาประมาณ 18 ล้านคน คิดเป็น25 %ของจำนวนประชากรในประเทศไทยนั้น จะต้องมีแผนการดูแลสวัสดิภาพของประชากรกลุ่มนี้อย่างดี ต้องสร้างความมั่นคงในอาชีพและความเป็นอยู่ในชาวนา เพราะมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ แต่การทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านบาท ที่ไม่เพียงแค่โครงการรับจำนำ แต่โครงการประกันรายได้ก่อนหน้านี้ ที่ระยะเวลา 4 ปีใช้เงินเกือบ 4 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาตลาดกับราคารับประกัน แบบไม่ต้องมีข้าวมาอยู่ในโกดังรัฐบาล ซึ่งชาวนาได้รับการคุ้มครองให้มีรายได้ตามที่รับประกันไว้ ขณะที่กลไกตลาดก็ทำงานไปตามปกติ แต่ที่สูญเสียแบบแทบจะเรียกได้ว่ากระเป๋ารั่วคือรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงราคาตกต่ำ จนบางครั้งต้องแอบนำหลักการจำนำมาใช้คือ ดึงซัพพลายออกจากตลาดในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ราคาดีดขึ้นลดมูลค่าการจ่ายชดเชยให้ชาวนา
ไม่ว่าวิธีการจำนำ หรือ ประกันรายได้ ที่ต่างเคลมว่าช่วยชาวนาด้วยใจรักและอยากเห็นชาวนาอยู่ดีกินดี แต่เม็ดเงินมหาศาลที่ใช้ไปกับทั้งสองโครงการนี้ หากนำมาแปลงเป็นงบประมาณด้านชลประทานจะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ขณะเดียวกัน หากใช้เม็ดเงินเดียวกันนี้ไปเพื่อสร้างระบบกักเก็บที่ดี เพื่อบริหารซัพพลายในตลาดข้าวไม่ให้มาก หรือน้อยเกินไป ก็จะทำให้ไทยคือผู้เล่นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญในตลาดโลก ไม่เพียงสร้างรายได้เข้าประเทศแต่สามารถชาวความมั่นคงให้อาชีพชาวนาซึ่งจะสามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ต่อไป