เปิดราคากลาง ‘ระบบชำระเงิน’ ‘Platform Payment’ หัวใจสำคัญดิจิทัลวอลเล็ต

เปิดราคากลาง ‘ระบบชำระเงิน’  ‘Platform Payment’ หัวใจสำคัญดิจิทัลวอลเล็ต

ส่องราคากลางระบบ Platform Payment หัวใจสำคัญเชื่อมระบบการชำระเงินดิจิทัลวอลเล็ตร้านค้า ประชาชน ธนาคาร ในระบบโอเพ่นลูป เผยราคากลาง 94.9 ล้านบาทเป็นค่าพัฒนาระบบ 77 ล้านบาทเศษ และค่าเช่าคลาวด์กว่า 17 ล้านบาท เผย ธปท.ส่งหนังสือเตือนเตรียมความพร้อมระบบ 2 รอบหวั่นไม่พร้อม

KEY

POINTS

  • รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตในกลุ่มแรก 1 ส.ค. - 15 ก.ย.โดยยืนยันว่าระบบลงทะเบียนประชาชนมีความพร้อม
  • ขณะที่ระบบ Platform Payment ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการชำระเงินในระบบยังอยู่ในขั้นการตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
  • ราคากลางของระบบนี้มีการประกาศออกมาแล้วในราคารวม 94 ล้านบาทเศษ เป็นค่าพัฒนาระบบ 77 ล้านบาทเศษ และค่าเช่าคลาวด์ 17 ล้านบาท
  • ผู้ว่าฯธปท.ส่งหนังสือเตือนเตรียมระบบการชำระเงิน 2 รอบ และให้แจ้ง ธปท.ก่อนใช้งานจริง 15 วัน

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ในกระเป๋า เงินดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 4.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลได้มีการแถลงข่าววันลงทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในกลุ่มแรกสำหรับคนที่มีสมาร์ทโฟนในวันที่ 1 ส.ค. – 15 ก.ย.2567 นี้ โดยในส่วนของระบบการลงทะเบียนประชาชนผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” นั้นถือว่ามีความพร้อมที่จะให้ประชาชนลงทะเบียน และยืนยันตัวตัวผ่าน ระบบ  KYC หรือ ระบบ Know Your Customer ได้ โดยหลังจากการลงทะเบียนและยืนยันการรับสิทธิ์แล้วระบบจะส่งข้อความการตรวจสอบสิทธิ์กลับมาให้ประชาชนที่ลงทะเบียนทราบในวันที่ 22 ก.ย.2567

แม้ว่าในส่วนของระบบการลงทะเบียนของประชาชนจะมีความพร้อม แต่ปัจจุบันสังคมให้ความสนใจอีกระบบหนึ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคือ ระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ซึ่งถือเป็นระบบที่เป็นหัวใจสำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบนี้คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ “DGA” และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้พัฒนาและดำเนินระบบสำหรับโครงการ ซึ่งระบบนี้จะเกี่ยวข้องกับการชำระเงินระบบการการใช้จ่ายสำหรับการชำระบัญชี (Clearing and Settlement) ระหว่างบัญชีของประชาชนและบัญชีของร้านค้าที่ธนาคารที่รับชำระเงิน (Open Loop)

โดยระบบการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและร้านค้าเป็นระบบ Open Loop การพัฒนาระบบการชำระเงินที่สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบธนาคารและผู้ให้บริการชำระเงินรายอื่น (Open Loop) และการตรวจสอบที่อยู่ของประชาชนและร้านค้าสำหรับการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ระหว่างประชาชนกับร้านค้าและระบบที่เกี่ยวข้องกับการถอนเงินสด (Cash Out) ออกจากโครงการฯ โดยต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของทุกรายการใช้จ่ายตามเงื่อนไข รวมถึงการชำระบัญชีของโครงการตามเงื่อนไขทั้งหมดจนจบโครงการและบริหารจัดการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องระบบตรวจสอบธุรกรรม (Transaction) ที่มีความต้องสงสัยเข้าข่ายการกระทำผิดเงื่อนไข (Fraud) อื่นๆ

ส่องราคากลางระบบชำระเงิน

ทั้งนี้จากการตรวจสอบความคืบหน้าล่าสุดของระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) หลังจากที่ ครม.อนุมัติงบประมาณ 95 ล้านบาทให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างระบบนี้ตามขั้นตอนของทางราชการ โดยล่าสุดมีการประกาศราคากลางผ่านเว็บไซต์ของ DGA เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้ โครงการงานจ้างพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล 95 ล้านบาทถ้วน โดยวันที่มีการกำหนดราคากลาง (ราคาอ้างอิง) ณ วันที่ 12 ก.ค. วงเงิน 94,905,250.47 บาท

แบ่งเป็นรายการต่างๆได้แก่

  • ค่าพัฒนาระบบ 77,355,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แบ่งเป็น
  1. ค่าเช่าบริการคลาวด์ 17,458,250.43 บาท
  2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 65,000 บาท

ทั้งนี้การกำหนดราคาค่าเช่าบริการคลาวด์นั้นมาจากสืบราคาจากท้องตลาดจำนวน 3 ราย ได้แก่

  • บริษัทเพย์ โซลูชั่น จำกัด
  • บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด
  • บริษัท เอ็นทีที (ประเทศไทย) จำกัด

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นไปตามการดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการ DGA ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม พ.ศ.2561

'แบงก์ชาติ'เตือนบอร์ดดิจิทัลห่วงความพร้อมระบบชำระเงิน

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับระบบชำระเงิน รวมถึงการใช้จ่ายระบบ Open Loop ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและได้เตือนมายังรัฐบาล 2 ครั้ง โดยครั้งแรกได้ส่งความเห็นให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. โดยผู้ว่า ธปท.ระบุว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก ต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk)

ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบชำระเงินดิจิทัลวอลเล็ตดังนี้

1.ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำช้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุด จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

2.ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความชับช้อนในหลายมิติ รวมทั้งการที่ระบบจะมีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open-loop) ที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล ความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้มาตรฐานตามระดับความเสี่ยงของภาคการเงินด้วย

3.ผู้พัฒนาระบบ (Developer) ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-loop เพื่อให้ระบบสอดดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ผ่านมา ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี

4.ผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องสามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และสามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนมีความติดขัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สออดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และในกรณีที่มี.การโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที

ให้แจ้งแบงก์ชาติก่อน 15 วัน

ขณะที่ในการประชุมบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้นผู้ว่า ธปท.ได้ส่งหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมโดยระบุว่าการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบการเชื่อมต่อระบบกับ payment platform ให้ทันตามกำหนดเพื่อเชื่อมโยงกับระบบของประชาชนและร้านค้า

ทั้งนี้ก่อนการเริ่มให้บริการจะต้องแจ้งให้ ธปท. ทราบล่วงหน้าก่อน 15 วัน เนื่องจากการเชื่อมต่อ payment platform กับ mobile application เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านระบบ IT อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง โดย ธปท.จะสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกรณีที่ Open Loop อาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวม 

นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นอื่นๆ   สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลไกการลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการติดตามการดำเนินโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการฯ และการขายลดสิทธิ์ (discount) ระหว่างประชาชนและร้านค้า

จะเห็นได้ว่าระบบการชำระเงินถือเป็นอีกหัวใจหลักของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะต้องจับตาดูว่าการพัฒนาระบบนี้จะทันตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เงินดิจิทัลในโครงการนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่?