'คงกระพัน' นำทัพสร้างความมั่นคงพลังงานยั่งยืน - หนุนบริษัทลูกโตนอก พร้อมดัน ปตท. รุกไฮโดรเจน

'คงกระพัน' นำทัพสร้างความมั่นคงพลังงานยั่งยืน - หนุนบริษัทลูกโตนอก พร้อมดัน ปตท. รุกไฮโดรเจน

“คงกระพัน” นำทัพสร้างความมั่นคงพลังงาน ยึดลงทุนที่ถนัดกลุ่มไฮโดรคาร์บอน เติบโตคู่ลดก๊าซเรือนกระจกหนุน Net Zero รับนำเข้าไฮโดรเจน-ดักจับกักเก็บคาร์บอน ดันบริษัทลูกลงทุนนอกยั่งยืน ใช้ 3 เกณฑ์ประเมิน สร้างกำไร ขนาดเหมาะสมและเชี่ยวชาญ รับตลาดอีวีเปลี่ยน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” ดำเนินธุรกิจบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” เพื่อเป็นแนวทางของบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่กับการแข่งขันระดับโลกอย่างยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจของ ปตท. ที่มีแผนเติบโตระดับโลกจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) การบริหารเพื่ออัตรากำไรที่เหมาะสม

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับ ปตท. มองการสร้างพอร์ตธุรกิจพลังงานต้องมองบริบทความมั่นคงพลังงานด้วย โดยมิชชั่นของ ปตท. ใน 5-10 ปี ข้างหน้ายังคงมองความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนถูกลงและยังคงมีการนำเข้าแอลเอ็นจี

ทั้งนี้ ความมั่นคงด้านพลังงานมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา เราได้เห็นผลกระทบของสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมันชัดเจนขึ้น หลังจากมีสงครามและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ทำให้บริษัทพลังงานบางแห่งผันตัวออกจากธุรกิจพลังงาน สำหรับ ปตท. นั้น ขณะนี้มองว่าจะต้องกลับมาสู่ธุรกิจที่เรามีความเชี่ยวชาญ คือ ไฮโดรคาร์บอนที่ครอบคลุมก๊าซ น้ำมันและปิโตรเคมี แต่จะทำธุรกิจรูปแบบเดิมไม่ได้ เพราะต้องทำควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน

 

ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมี 2 แนวทาง คือ 1.การเลิกทำธุรกิจพลังงาน จะทำให้ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน 2.ทำธุรกิจพลังงานต่อ แต่ต้องทำควบคู่กับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ ปตท. มองถึงธุรกิจอนาคตที่สอดคล้องกับความต้องการของ ปตท. เอง และความต้องการของประเทศไทยซึ่งมีเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero ปี ค.ศ. 2065 ขณะนี้กำลังรีวิวแผนธุรกิจที่ลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การลดคาร์บอนมากขึ้นด้วย อาทิ

1. ไฮโดรเจน ปัจจุบันยังเป็นเทคโนโลยีที่ราคาสูง เช่น Green Hydrogen ผลิตโดยการแยกไฮโดรเจนจากน้ำ และต้องใช้พลังงานหมุนเวียนจึงทำให้ต้นทุนสูง ขณะที่การผลิต Blue Hydrogen จะใช้ก๊าซธรรมชาติโดยดำเนินการควบคู่กับการดักจับคาร์บอนได้ ซึ่ง ปตท. ได้หาแหล่งผลิตหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง

\'คงกระพัน\' นำทัพสร้างความมั่นคงพลังงานยั่งยืน - หนุนบริษัทลูกโตนอก พร้อมดัน ปตท. รุกไฮโดรเจน

ทั้งนี้ การดำเนินการที่ต้นทางสามารถให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้จัดหา รวมทั้งอาจจะไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรในต่างประเทศที่เป็นแหล่งผลิต ซึ่งนอกจากจะส่งมาที่ไทย ยังส่งไปประเทศอื่นที่มีความต้องการไฮโดรเจน เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น

ขณะที่กลางทางให้ ปตท. เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขนส่งไฮโดรเจนในรูปแอมโมเนีย โดยต้องมีถังเก็บแอมโมเนียบริเวณท่าเรือ

ส่วนปลายทางจะส่งไฮโดรเจนให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักก่อนเพราะมีสเกลที่ใหญ่ โดยเริ่มที่บริษัทลูกที่มีความต้องการใช้ไฮโดรเจน เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC หลังจากนั้นจึงขยายไปสู่การใช้ภาคขนส่ง

2.การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งจะมีการแบ่งบทบาทภายในกลุ่ม ปตท. โดย ปตท. จะเป็นผู้กำกับดูแลภาพรวม โดยการดำเนินการต้นทางจะเริ่มจากการกดักจับจากกระบวนการผลิตของบริษัทลูก เช่น GC, GPSC และบริษัท ไทยออยล์จำกัด (มหาชน) หรือ TOP

ขณะที่การดำเนินการกลางทางจะมี ปตท. ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานริมทะเลรองรับการส่งคาร์บอนไปกักเก็บ โดยจะต้องดำเนินการร่วมกับภาครัฐเพราะยังมีประเด็นที่เกี่ยวของกับกฎระเบียบ และจำเป็นที่ ปตท. จะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสเกลใหญ่เพื่อให้บริการบริษัทอื่นด้วย

ส่วนปลายทางจะกักเก็บคาร์บอนไว้ที่หลุมขุดเจาะก๊าซใต้ทะเลอ่าวไทย โดยปตท.สผ. จะเป็นผู้ดำเนินการ

“ปตท. จะทำสิ่งที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง และทำในสิ่งที่ดีขึ้นและสะอาดขึ้น เพื่อเปลี่ยนธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนให้กลายเป็น Net Zero ถือเป็นเรื่องดีที่ ปตท. มีความถนัด ซึ่งเป็นบริบทที่ ปตท. ต้องเปลี่ยนวิธีทำ ไม่ใช่ความรับผิดชอบที่เอาแต่พูด แม้ไฮโดรคาร์บอนจะดีต่อเรา แต่บางส่วนยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงต้องทำสิ่งที่ใหญ่กว่า คือ CCS และ ไฮโดรเจน ที่ต้องใช้งบลงทุนสูง” นายคงกระพัน กล่าว

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจใหม่ จะมีการพิจารณาตามเทรนด์ธุรกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจแตกต่างจาก 4-5 ปี ที่ผ่านมา จึงทำให้ต้องมีการปรับแผนในกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อลดธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางการทำงาน ซึ่งมีแนวทางในการพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

1.ธุรกิจต้องดี พิจารณาจากลักษณะธุรกิจที่น่าสนใจและมีผลตอบแทนการลงทุนที่ดี

2.ธุรกิจขนาดต้องใหญ่เหมาะสมกับ ปตท.

3.ปตท. ต้องมีจุดแข็งเหมาะสมในการทำธุรกิจนั้นๆ

“แผนธุรกิจใหม่จะเสนอบอร์ดปตท. ช่วงเดือน ส.ค. นี้ จะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจรวมถึงงบลงทุนด้วย โดยจะต้องคำนึงว่าเมื่อลงทุนไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ หากเปรียบเทียบกับการมีพาร์ทเนอร์อันไหนจะดีกว่ากัน ดังนั้น ใน 3 เรื่องนี้จึงสำคัญ เพื่อแข็งแรงคู่กับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย” 

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV จะมีซัพพลายเชนที่ยาวตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ โรงงานประกอบรถและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งมีบริษัทลูกของ ปตท. หลายบริษัทเข้าไปลงทุน โดย บริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มองในฐานะ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นเห็นว่าเป็นบริษัท Mobility Partner เพื่อคนไทยไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำมัน ไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน

ขณะที่บางธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนไปแล้วอาจพิจารณาไม่ลงทุนต่อเพื่อให้พาร์ทเนอร์เป็นผู้ลงทุนต่อ หรือบางธุรกิจอาจให้ SME เป็นผู้ลงทุนจะทำได้ดีกว่า ปตท. ดำเนินการเอง

รวมถึงมีบริษัทลูกหลายบริษัทที่โตเกินที่จะลงทุนในไทยอย่างเดียวและสามารถเติบโตระดับโลกอย่างยั่งยืนได้ เช่น GC, ปตท.สผ.

“เมื่อมีความมั่นคงแล้วต้นทุนก็จะต้องแข่งขันได้ พร้อมสร้างให้ประเทศไทยแข็งแรง โดย ปตท. ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. การดำเนินธุรกิจจึงจะต้องมีกำไรที่เหมาะสม เพราะน้อยไปก็ไม่ดี และมากไปก็คงไม่ได้"

นอกจากนี้แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกครึ่งหลังปี 2567 จะเป็นประเด็นที่วิเคราะห์ได้ยาก เพราะปัจจัยภายนอกมาความผันผวน ซึ่งกลุ่มโอเปกสามารถร่วมมือกันได้ในการกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ดังนั้นราคาจึงไม่น่าลงมาเยอะจากปัจจุบัน และคงไม่สูงแบบช่วงที่มีการสู้รบกัน

ทั้งนี้ ปตท. จึงจะต้องวางแผนธุรกิจในกรอบที่ราคาน้ำมันมีทั้งสูงและต่ำ แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้คำนึง คือ การประหยัดพลังงานเพราะราคาควบคุมไม่ได้ เนื่องจากเป็นราคาตลาดโลกทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน

ขณะที่ความร่วมมือกับภาครัฐพร้อมให้ความร่วมมือในการดูแลราคาพลังงานตามกฎระเบียบ โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายตรึงค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 ซึ่งใช้ความร่วมมือจาก ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)