ส่อง 4 เมกะโปรเจกต์ 'อาเซียน' รุกลงทุนการขนส่งทางน้ำ

ส่อง 4 เมกะโปรเจกต์ 'อาเซียน' รุกลงทุนการขนส่งทางน้ำ

ส่องแผนลงทุนการขนส่งทางน้ำ 4 ประเทศอาเซียน ไทย – กัมพูชา - มาเลเซีย - สิงคโปร์ อัดงบรวมมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ชิงเค้กการขนส่งในภูมิภาคที่ขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมดึงสายการเดินเรือทั่วโลกใช้บริการ ลดปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา

KEY

POINTS

  • ส่องแผนลงทุนการขนส่งทางน้ำ 4 ประเทศอาเซียน อัดงบลงทุนรวมมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ชิงเค้กการขนส่งในภูมิภาคขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมดึงสายการเดินเรือทั่วโลกใช้บริการ 
  • ไทยมั่นใจ 'แลนด์บริดจ์' เป็นทางเลือกสายเดินเรือลดระยะเวลาเดินทางเหลือ 5 วัน จากปัจจุบัน 9 วันในช่องแคบมะละกา 
  • กัมพูชาดันบิ๊กโปรเจกต์ “ฟูนันเตโช” เชื่อมขนส่งจากแม่น้ำโขง - อ่าวไทย ส่งเสริมการเกษตร การจ้างงาน และลดต้นทุนขนส่งสินค้าสู่ทะเล
  • มาเลเซีย - สิงคโปร์ เดินหน้าพัฒนาท่าเรือด้วยนวัตกรรม AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง

 

 

หลายประเทศในอาเซียน ขณะนี้กำลังโหมลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์การขนส่งทางน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับความต้องการของสายเดินเรือทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามา เนื่องจากเส้นทางขนส่งทางน้ำของอาเซียนเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญ จุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อประตูการค้าระหว่างระหว่างเอเชียตะวันออก ตลาดใหญ่อย่างจีนไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

ซึ่งเส้นทางเดินเรือในปัจจุบัน “ช่องแคบมะละกา” เป็นจุดเชื่อมเส้นทางสายหลัก มีปริมาณเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ที่ 85,000 ลำต่อปี และคาดว่าในปี 2573 จะมีปริมาณเรือขนส่งสินค้าสูงสุดอยู่ที่ 122,000 ลำต่อปี ทำให้ช่องแคบมะลากาเป็นจุดที่มีความสำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลโลก และมีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาค แต่กำลังประสบปัญหา “การจราจรทางเรือติดขัด”

ท่ามกลาง “วิกฤติ” ความแออัดของช่องแคบมะละกา จึงเกิดเป็น “โอกาส” ทางการลงทุนของหลายประเทศในอาเซียน และขณะนี้มีอย่างน้อย 4 โครงการลงทุนสำคัญ เม็ดเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

โครงการลงทุนทางน้ำของไทย

โครงการแลนด์บริดจ์

  • มูลค่าการลงทุน 1.001 ล้านล้านบาท
  • กำหนดเปิดให้บริการปี 2573

พัฒนาท่าเรือน้ำลึก 2 จุด คือ ท่าเรือน้ำลึกแหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง และท่าเรือน้ำลึก แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อการขนส่ง ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

ขณะที่รูปแบบการลงทุนเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐผู้รับผิดชอบการให้สิทธิประโยชน์ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ โดยหลังจากเปิดให้บริการแลนด์บริดจ์จะส่งผลให้เรือขนส่งต่างๆ ไม่ต้องเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และลดเวลาเดินทางเหลือ 5 วัน จากปัจจุบัน 9 วัน และท่าเรือแต่ละฝั่งรองรับขนส่งสินค้า 20 ล้านทีอียูต่อปี

ส่อง 4 เมกะโปรเจกต์ \'อาเซียน\' รุกลงทุนการขนส่งทางน้ำ

โครงการลงทุนทางน้ำของกัมพูชา

คลองฟูนันเตโช 

  • มูลค่าการลงทุน 61,200 ล้านบาท
  • กำหนดเปิดให้บริการปี 2571

โครงการพัฒนา “ฟูนันเตโช” มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมการเดินทางทางน้ำ และการขนส่งจากแม่น้ำโขงกับอ่าวไทย โดยนายกฯ ฮุน มาแนต เคยประกาศว่า โครงการนี้จะเริ่มพิธีขุดคลองวันที่ 5 ส.ค.2567 เงินลงทุนประมาณ 1,700 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนท้องถิ่น ซึ่งโครงการคลองฟูนันเตโชมีความยาว 180 กิโลเมตร เริ่มต้นจากปรักตาแก้วบนแม่น้ำโขง ผ่านปรักตาเอกและปรักตาหิงในแม่น้ำบาสัก อำเภอเกาะธม แล้วเข้าสู่จังหวัดแกบ รวมตลอดเส้นทางครอบคลุมจังหวัดกันดาล, ตาแก้ว, กัมปอต และแกบ ประชากรบนเส้นทางน้ำ 1.6 ล้านคน

นอกจากนี้มีเขื่อนกั้นน้ำ 3 แห่ง สะพาน 11 แห่ง ทางเดิน 208 กิโลเมตร โครงสร้างพื้นฐานช่วยเดินเรือและการข้ามแม่น้ำ โดยมีรูปแบบการลงทุนตามสัญญา BOT (build-operate-transfer) เอกชนผู้รับสัมปทานต้องรับผิดชอบการลงทุน การออกแบบ ดำเนินการก่อสร้างและการบริหารจัดการ โดยเมื่อแล้วเสร็จจะส่งเสริมการเกษตร การจ้างงานและลดต้นทุนขนส่งสินค้าจากพนมเปญสู่ทะเล

ส่อง 4 เมกะโปรเจกต์ \'อาเซียน\' รุกลงทุนการขนส่งทางน้ำ

โครงการลงทุนทางน้ำของมาเลเซีย

ท่าเรือกลัง (เฟสใหม่)

  • มูลค่าการลงทุน 296,800 ล้านบาท
  • กำหนดเปิดให้บริการปี 2570

ท่าเรือตู้สินค้าแห่งใหม่ของมาเลเซียตั้งอยู่เมืองพอร์ท ดิกสัน ในรัฐเนกรี เซมบิลันใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ จุดเด่นจะบริหารท่าเรือด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเป็นท่าเรือแห่งแรกในมาเลเซียที่ใช้เทคโนโลยีสมาร์ต AI โดยมีท่าเทียบเรือยาว 1.8 กิโลเมตร มีอาคารขนถ่ายตู้สินค้าและพื้นที่การจัดการตู้คอนเทนเนอร์ 809,300 ตารางเมตร รองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่สุดได้

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เผยว่า อาเซียนเป็นจุดแข็งการขนส่งสินค้า เป็นประตูเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างเอเชียสู่ภูมิภาคอื่นสะท้อนจากการเติบโตของการขนส่งสินค้าแม้ช่วงโควิด-19 แต่ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายประเทศในอาเซียนเห็นโอกาสและลงทุนขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำเพื่อรองรับความต้องการจากทั่วโลก

สำหรับมาเลเซียมีแผนลงทุนขยายท่าเรือกลัง (Port Klang) ท่าเทียบเรือใหญ่สุดของมาเลเซียเพื่อรองรับดีมานด์การขนส่งสินค้า โดย สนข.ประเมินว่าการลงทุนขยายท่าเรือครั้งนี้ เพราะปริมาณการส่งออกสินค้ามาเลเซียเติบโตขึ้น และท่าเรือกลังรองรับการส่งออกและนำเข้าของมาเลเซีย ดังนั้นจึงต้องเร่งขยายขีดความสามารถ จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะเป้าหมายลูกค้าที่จะใช้บริการท่าเรือต่างกัน 

โครงการลงทุนทางน้ำของสิงคโปร์ 

ท่าเรือ Tuas (เฟส 1-4) 

  • วงเงินการลงทุน 7.2 แสนล้านบาท
  • กำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 2585

การพัฒนาท่าเรือ Tuas ปัจจุบันการก่อสร้างเสร็จไปแล้วในระยะที่ 1 เมื่อปี 2563 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเต็มรูปแบบรวม 4 ระยะ ภายในปี 2585 ซึ่งมีพัฒนาด้านบริการต่างๆ นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาบริการและอำนวยความสะดวกด้านเชื้อเพลิงเรือขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ท่าเรือ Tuas เป็นท่าเรือใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลกที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด

นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือ Tuas ของสิงคโปร์ยังจะทำให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยหากท่าเรือแห่งใหม่นี้แล้วเสร็จ จะทำให้ท่าเรือ Tuas มีขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ปริมาณมากกว่า 65 ล้านทีอียูต่อปี