ป.ป.ช.เกาะติดขยายสัมปทานโทลล์เวย์ - ทางด่วนศรีรัช

ป.ป.ช.เกาะติดขยายสัมปทานโทลล์เวย์ - ทางด่วนศรีรัช

ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงกรมทางหลวง และการทางพิเศษฯ จี้ตอบคำถามปมเจรจาขยายสัญญาสัมปทานเอกชน ด้านผู้ว่าการทางพิเศษฯ ระบุยังไม่ได้รับหนังสือ ลั่นมีผลการศึกษา พร้อมตอบทุกคำถาม

นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการฯ ปฏิบัติราชการแทน

เลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงานป.ป.ช.) ทำหนังสือลงนามถึง 2 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง และทางพิเศษศรีรัช เนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวังการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ดี พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา

สำหรับโครงการทางยกระดับดอนเมือง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือไปยังอธิบดีกรมทางหลวง ระบุรายละเอียดสอบถามเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง ระหว่างกรมทางหลวง กับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) โดยทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมทางหลวง เร่งรัดหาแนวทางในการเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง เพื่อขอปรับลดค่าผ่านทางลง แลกเปลี่ยนกับการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไป 

ซึ่งสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเสียงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา ดังนั้น เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอทราบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเอกสารประกอบ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยขอให้กรมทางหลวงจัดส่งข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สำนักงาน ป.ป.ช. ภายในวันที่ 7 ส.ค.2567 

สำหรับประเด็นคำถามของสำนักงาน ป.ป.ช. ต่อกรณีการขยายสัมปทานโครงการทางยกระดับดอนเมือง ประกอบด้วย  

1.ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง ในการปรับลดค่าผ่านทาง ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการไปคืบหน้ามากน้อยเพียงใด

2.กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่

3.เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2577 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางได้เอง โดยไม่กระทบกับประชาชน เหตุใดกรมทางหลวงจึงไม่รอให้สัญญาสิ้นสุดแล้วดำเนินการเอง

4.ขอข้อมูลรายได้ของทางยกระดับดอนเมืองในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

5.การดำเนินการตามสัญญา เป็นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลที่ใช้บังคับตามปี พ.ศ.2556

ขณะเดียวกันได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วยสำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชน กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 

โดยทราบว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช และอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นขอบ ซึ่งสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนได้รายงานมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา

ดังนั้น เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอทราบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเอกสารประกอบ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยขอให้จัดส่งข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ภายในวันที่ 7 ส.ค.2567

โดยสำนักงาน ป.ป.ช. มีประเด็นคำถามไปยังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช โดยระบุว่า 

1.เนื่องจากสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชฉบับแก้ไขจะสิ้นสดในปี พ.ศ. 2578 และทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่าผ่านทางได้เอง โดยไม่กระทบกับเอกชนคู่สัญญา เป็นเพราะเหตุใด กทพ. จึงเร่งรัดดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช ภายในเดือนสิงหาคม 2567

2.ขอทราบเหตุผลในการปรับลดสัดส่วนรายได้จากเดิม ที่สัดส่วนรายได้ระหว่าง กทพ. และ BEM อยู่ที่ร้อยละ 60 : 40 ปรับสัดส่วนเป็นร้อยละ 50 : 50 และมีการขยายระยะเวลาของสัญญาออกไปสิ้นสุดปี พ.ศ.2601 

3.ปัจจุบันร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชอยู่ในขั้นตอนใด และได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่

4.ขอสำเนาร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

5.ขอข้อมูลรายได้ของทางพิเศษศรีรัชในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

6.ขอรายงานการวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ของโครงการ (Feasibility Study) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง

7.ขอข้อมูลการคำนวณมูลค่าปัจจุบัน ต้นทุนทั้งหมดตลอดอายุโครงการ ผลประโยชน์ทั้งหมดตลอดอายุโครงการ เปรียบเทียบระหว่างสัญญาฉบับปัจจุบันกับสัญญาฉบับใหม่

8. ต้นทุนการลงทุนในการก่อสร้างและการให้บริการเปรียบเทียบรายได้ของรัฐเป็นอย่างไร

9. การดำเนินการตามสัญญา เป็นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลที่ใช้บังคับตามปี พ.ศ.2556 

10.โครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) มีการศึกษาผลกระทบ ความจำเป็นในการก่อสร้างหรือไม่ มติคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ อย่างไร และอัตราค่าผ่านทางที่จะเสนอปรับลดเหลือ 50 บาท ครอบคลุมถึงโครงการ Double Deck หรือไม่ อย่างไร 

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือจากสำนักงาน ป.ป.ช. ที่สอบถามเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช อย่างไรก็ดี กทพ. พร้อมตอบทุกคำถาม และมีข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานในเรื่องนี้ที่สามารถตอบคำถามได้ ทั้งนี้ผู้ว่าฯ และพนักงานการทางพิเศษฯ ทุกคน มีความตั้งใจในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีที่ ป.ป.ช.สอบถามความเห็นต่อกรมฯในประเด็นการเจรจากับเอกชนถึงการลดค่าผ่านทางทางยกระดับดอนเมืองโทรลล์เวย์ ขณะนี้กรมได้รับหนังสือจากทาง ป.ป.ช.แล้ว คาดว่าจะตอบกลับประเด็นดังกล่าวได้ภายในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งกรมฯ จะต้องศึกษาไปตามกระบวนการต่อไป