เตือนวิกฤติเศรษฐกิจหนักกว่าต้มยำกุ้ง SME ขาดสภาพคล่องกู้นอกระบบทำธุรกิจ
“นักวิชาการ” ประเมินปัญหาเศรษฐกิจไทยแก้ยากกว่าช่วงต้มยำกุ้ง เปรียบเหมือนปิรามิดที่ฐานล่างผุพัง SME ขาดสภาพคล่องหนักกว่า 35% กู้เงินนอกระบบหมุนธุรกิจ มองดิจิทัลวอลเล็ตไม่ช่วย SME มาก แนะรัฐคิดรอบคอบให้ร้านสะดวกซื้อร่วมโครงการ หวั่นทำเม็ดเงินหมุนช้า
ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศไทยหลายด้านทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนและธุรกิจขาดสภาพคล่องทำให้เกิดคำถามว่าปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันเมื่อเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้งนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวถึงบริบทของวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 กับในภาวะปัจจุบันมีความแตกต่างกันโดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆในระบบเศรษฐกิจ
โดยหากดูตามโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่มีลักษณะเหมือนปิรามิดประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กมากๆที่เป็นเอสเอ็มอีหรือไมโครเอสเอ็มอีนั้นอยู่ที่ฐานล่างของปิรามิด ถัดขึ้นไปก็คือคนชั้นกลาง และในส่วนบนไปถึงยอดของปิรามิดคือผู้มีรายได้สูงและบริษัทขนาดใหญ่
ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันเกิดที่ระดับฐานล่างของปิรามิด ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจของเรามีปัญหาที่ไปกระทบคนที่เป็นประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กจำนวนมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับไปจึงยากเพราะต้องแก้ปัญหาให้กับประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจปัญหาเกิดขึ้นที่ระดับบนไปจนถึงระดับยอดปิรามิด ในระดับฐานล่างของปิรามิดไม่ได้รับผลกระทบมากนักและมีกำลังในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมาได้ การฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับขึ้นมาสู่ระดับปกติจึงใช้เวลาไม่นานนัก
แต่ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันเกิดที่ระดับฐานล่างของปิรามิดภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมากถึง 91% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงมากทำให้การปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีเองสถาบันการเงินก็ระมัดระวังมาก การปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงเป็น NPL ธนาคารเองก็จะไม่ปล่อยกู้เมื่อรวมกับปัญหาที่งบประมาณล่าช้าไปหลายเดือนทำให้สภาพคล่องหายไปจากระบบ
ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้และเป็นเรื่องที่หนักหนาก็คือปัญหาของเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบมาหมุนเวียนในการทำธุรกิจ โดยข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันจากเอสเอ็มอีที่เป็นระดับไมโครเอสเอ็มอีคือมีขนาดเล็กมากๆประมาณ 2.5 ล้านรายมีประมาณ 53% ที่ยังสามารถใช้เงินกู้ในระบบทำธุรกิจได้ ขณะที่อีก 11% อยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพาเงินกู้ทั้งจากในระบบและนอกระบบ และมีอีกประมาณ 35% ที่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบในการทำธุรกิจซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือต้องเจอกับภาระดอกเบี้ยที่สูงมากทำให้การหมุนเงินเพื่อทำธุรกิจยากมากขึ้นเรื่อยๆโอกาสที่จะต้องปิดกิจการก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
“ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน เกิดที่ระดับฐานล่างของปิดรามิดไม่ใช่ส่วนยอดของปิรามิด แต่ที่น่ากังวลคือเมื่อส่วนที่พังเป็นฐานล่างเวลามันพังจริงๆก็จะล้มพังกันไปหมดทั้งปิรามิด ซึ่งในกรณีของเอสเอ็มอีนั้นแม้ว่าจะมีจำนวนประมาณ 2.5 ล้านรายแต่เมื่อรวมการจ้างงานทั้งหมดแล้วถือว่ามากกว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทรวมกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดกับเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีจะกระทบไปถึงประชาชนในระดับฐานล่างของระบบเศรษฐกิจ และกระทบกับประชาชนในวงกว้าง”
นอกจากนี้เมื่อดูเงื่อนไขของโครงการเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็มองว่าเป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือร้านค้ารายย่อยได้ไม่มาก เนื่องจากโครงการนี้ร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการโดยรับเงินจากประชาชนในขั้นตอนการซื้อสินค้าจากประชาชนสู่ร้านค้าขนาดเล็กจะจ่ายให้เป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ตตามโครงการโดยร้านค้าขนาดเล็กไม่สามารถขึ้นเงินสดได้ซึ่งไม่ตอบโจทย์ของร้านค้าขนาดเล็กและไมโครเอสเอ็มอีที่ใช้เงินสดในการหมุนเงินและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการนี้จึงไม่ได้ตอบโจทย์ของเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีเท่าที่ควร แต่จากการออกแบบโครงการผลดีจะไปอยู่ที่เอกชนรายใหญ่มากกว่า
“โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่บอกจะเกิดผลเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจนั้นต้องดูว่าการออกแบบลักษณะให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ตัวอย่างถ้าให้คนไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อได้ เงินจะหมุนช้าเพราะปกติร้านสะดวกซื้อจะจ่ายเงินต่อไปยังคู่ค้าและซัพพายเออร์บางทีใช้เวลานาน 3 – 4 เดือน ซึ่งไม่เหมือนการออกแบบให้โครงการซื้อขายกันเองระหว่างร้านค้าย่อยและร้านค้าในชุมชนโดยไม่มีร้านสะดวกซื้อที่เงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่า” รศ.ดร.มนตรี ระบุ