มองอดีตเพื่อหาอนาคตใหม่ให้เศรษฐกิจไทย (1)
วันนี้หลายคนบอกผมว่า “เศรษฐกิจไม่ดี” และเป็นห่วงว่า อนาคตก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4-5% ต่อปี ทั้งๆ ที่ในอดีต เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวเฉลี่ย 6.5-8.5% ต่อปีต่อเนื่องการเป็นเวลา 35 ปี (1961-1986)
ดังนั้น ผมจึงขอกลับไปมองอดีตว่า ในช่วงดังกล่าวปัจจัยอะไร ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี เพื่อช่วยประเมินว่า ประเทศไทยมีทางเลือกอะไรบ้าง ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับที่จะช่วยให้คนไทยมีอนาคตที่สดใสมากกว่าปัญหาที่รุมเร้าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ผมจะต้องขอรวบรัดตัดตอน สรุปพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาในรูปเดียวดังภาพประกอบ
หากมองจากภาพใหญ่ ก็พอจะสรุปได้ว่า เศรษฐกิจไทยนั้น พัฒนาเปลี่ยนผ่านมา 3 ยุคด้วยกันคือ ยุคแรก 1960-1984 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี เป็นช่วงที่การขยายตัวของ “ตลาดในประเทศ” เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกสินค้าและบริการนั้นอยู่ที่ระดับต่ำ 17-22% ของจีดีพี (การบริโภคในประเทศนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของจีดีพี)
ในช่วง 1960-1984 ดังกล่าวสามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 1961-1974 เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีด้วยตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้เผชิญปัญหาจากภายนอก (จีดีพีขยายตัว 7.5% ต่อปีโดยเฉลี่ย) ช่วงนั้น ผมไม่มีตัวเลขมายืนยัน (เพราะหาตัวเลขไม่ได้) แต่เชื่อว่า รัฐบาลขาดดุลงบประมาณไม่มาก
แตกต่างจากช่วง 1975-1984 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อสูงกว่า 10% ต่อปี และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ คือสหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม
ช่วงดังกล่าว รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณสูง คือเฉลี่ย 3.2% ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้จีดีพีขยายตัวได้เฉลี่ย 6.76% ต่อปี ต่ำกว่าช่วง 1961-1974 ที่จีดีพีขยายตัวได้ 7.5% ต่อปี
เศรษฐกิจไทยยุคที่ 2 ช่วง 1984-2008 สัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือจากประมาณ 22% ของจีดีพี ในปี 1984 มาเป็น 71.4% ของจีดีพีในปี 2008 กล่าวคือ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวโดยการบุกตลาดโลก
ยุคนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือช่วงแรก 1985-1996 จีดีพีไทยขยายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ คือเฉลี่ย 8.6% ต่อปี ในช่วงดังกล่าว เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยเงินทุนและเงินยืมจากต่างประเทศ (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5% ของจีดีพีต่อปี โดยเฉลี่ย) ช่วงเดียวกัน รัฐบาลไทยเกินดุลงบประมาณเฉลี่ย 1.6% ต่อปี
ทั้งนี้ สามารถแบ่งยุคดังกล่าวได้เป็น 2 ช่วงเช่นกัน คือช่วงแรก 1985-1993 มีการลงทุนจากต่างประเทศ มาพัฒนาก๊าซธรรมชาติของไทย การสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตาพุด และการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นอีกระลอกหนึ่งมาที่ประเทศไทย แต่ในช่วงหลังจากนั้นคือ 1994-1996 มีการกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดฟองสบู่และวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997-1998
ช่วงต่อมา 1999-2008 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติในปี 1997 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวโดยการเร่งการส่งออก เพราะต้องหารายได้เป็นเงินตราต่างประเทศมาใช้คืนหนี้สินและสร้างทุนสำรองระหว่างประเทศ
ช่วงนั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในยุคที่นิยมโลกาภิวัตน์ หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกในปี 2001 จะเห็นได้ว่า การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของจีดีพี สูงกว่าการบริโภคภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเศรษฐกิจมากนัก จึงขาดทุนงบประมาณเฉลี่ยเพียง 1.2% ของจีดีพี
ยุคที่ 3 คือปี 2009-ปัจจุบัน เป็นยุคที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสหรัฐเผชิญกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2008-2009) และต่อมา ยุโรปก็เผชิญกับวิกฤติประเทศกรีก ตามมาด้วยการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐทำสงครามการค้ากับจีนตั้งแต่ปี 2016 และต่อมา เศรษฐกิจโลกก็เข้าสู่ภาวะชะงักงันจากการระบาดของโควิด 19 ช่วงปี 2020-2022
จะเห็นได้ว่า ในช่วงปี 2009-2019 จีดีพีไทยยังขยายตัวได้ 3.24% (สูงกว่าช่วง 1997-2008 ที่เฉลี่ย 3.17% ต่อปีเล็กน้อย) แต่เป็นช่วงที่ รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากกว่าช่วง 1997-2008 อีก 1 เท่าตัว (คือขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 2.4% ต่อปี) จึงสรุปได้ว่า ช่วง 2009-2019 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยไม่แข็งแรง หากรัฐบาลไม่ได้กู้เงินมา “อุ้ม” เศรษฐกิจคงจะโต 1% ต่อปี
อีกตัวแปรที่บ่งถึงความเสื่อมถอยคือ การที่สัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการต่อจีดีพีไหลลงจากจุดสูงสุดที่ 71.4% ในปี 2008 เหลือเพียง 64.8% ในปี 2018 และ 59.5% ในปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19
ช่วงการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงอย่างน่าใจหาย เพราะช่วง 2020-2023 จีดีพีไทยไม่ได้ขยายตัวเลย เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.3% ต่อปี และเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.0% ต่อปี (เพราะปี 2020 จีดีพีโลกติดลบไม่มากและปี 2021-2023 จีดีพีโลก พลิกฟื้นขยายตัวได้ดี แตกต่างจากเศรษฐกิจไทย)
แน่นอนว่า รัฐบาลต้องยอมขาดดุลงบประมาณมากถึง 5.9% ของจีดีพีต่อปีเฉลี่ย เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สัปดาห์หน้า ผมจะเขียนถึงอีกประเด็นที่สำคัญกับการขับเคลื่อนการขยายตัวและการพัฒนาของเศรษฐกิจ คือการออมและการลงทุนครับ