เปิดข้อมูลทุนจีน “แฟรนไชส์”  ไทยเปิดเสรีไร้กฎหมายเฉพาะคุม

เปิดข้อมูลทุนจีน “แฟรนไชส์”  ไทยเปิดเสรีไร้กฎหมายเฉพาะคุม

เปิดข้อมูลทุนจีนรุกธุรกิจแฟรนไชส์ อาหาร และเครื่องดื่ม “ไอติม ชานมไข่มุก เครื่องดื่ม” เผย พ.ร.บ.คนต่างด้าวไม่มีหลักเกณฑ์คุมธุรกิจแฟรนไชส์ต่างชาติ หากขออนุญาตถูกต้องประกอบธุรกิจได้ ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คุมเข้มตรวจ นอมินี ใน 5 กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และบริการ

หลังจากสินค้าจีนทะลักเข้าไทย และตีตลาดไทยเพราะราคาสินค้าถูก ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไทยซื้อสินค้าจีนมากขึ้น และล่าสุดทุนจีนบุกตลาดร้านอาหาร และเครื่องดื่มของไทย โดยการเปิดร้านในลักษณะแฟรนไชส์ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากเพราะราคาไม่แพงมาก เช่น ธุรกิจขายไอศกรีม ธุรกิจขายไก่ย่าง ขายเครื่องดื่ม 

ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ โดยจะใช้กฎหมายอื่นแทน เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า

รวมถึงคนต่างด้าวที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะสำหรับธุรกิจประเภทนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะพิจารณาคือ บริษัทได้รับสิทธิในการให้ใช้ช่วงสิทธิจากเจ้าของสิทธิ

สำหรับการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่กำหนดห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจบางประเภท และบางประเภทจะประกอบธุรกิจได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตหรือได้รับหนังสือรับรองแล้วแต่กรณี ซึ่งธุรกิจที่เป็นคนต่างด้าวจะมาประกอบธุรกิจในไทยจะต้องมีการขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ 

ทั้งนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถึงสถานะการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของบริษัทจีนในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจอาหารที่กำลังได้รับความนิยม พบว่า 

เปิดข้อมูลทุนจีน “แฟรนไชส์”  ไทยเปิดเสรีไร้กฎหมายเฉพาะคุม

1.บริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 9 ก.ย.2565 มีสถานะเป็นต่างด้าว (ต่างด้าวถือหุ้น 100%) ทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท ธุรกิจขนาด S ตั้งอยู่ที่เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยมีกรรมการบริษัท 1 ราย คือ นางสาวฮุ่ย เจี่ย และได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจในธุรกิจ ดังนี้ 

ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchsing) เพื่อประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้เครื่องหมายการค้า" MIXUE" 

ธุรกิจให้คำปรึกษา แนะนำ และฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายใต้สัญญาแฟรนไชส์ (Franchising)

สำหรับธุรกิจทั้ง 2 ถือเป็นธุรกิจบริการตามบัญชีสาม (21) ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทั้งนี้ บริษัทได้รับสิทธิในการให้ใช้ช่วงสิทธิจากบริษัทในเครือซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ

2.บริษัท วีดริ๊ง เอ็นเตอร์ไพรส์ เมนเนจเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 19 ธ.ค.2566 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ขนาดธุรกิจ S ตั้งอยู่ที่ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร มีกรรมการบริษัท 1 ราย คือ นายเจิ้ง หมินเจี๋ย มีสถานะเป็นต่างด้าว (ต่างด้าวถือหุ้น 100%) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจตามงบการเงิน คือ ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ 

ทั้งนี้ถือเป็นธุรกิจบริการตามบัญชีสาม ท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะประกอบธุรกิจได้เมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งจากการเช็คข้อมูลไม่ปรากฏว่า บริษัทได้รับอนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และข้อมูลงบการเงินปี 2566 ยังไม่ปรากฎว่าบริษัทมีรายได้จากการให้บริการ

 

ทั้งนี้ บริษัท วีดริ๊ง เอ็นเตอร์ไพรส์ เมนเนจเม้นท์ จำกัด หากต้องการประกอบธุรกิจต้องมาขออนุญาตประกอบธุรกิจตามกฎหมายจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มิฉะนั้นอาจมีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 37 ซึ่งมีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการประกอบธุรกิจหรือเลิกกิจการ หรือสั่งเลิกการเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนแล้วแต่กรณี

3.บริษัท แอลที เอฟแอนด์บี จำกัด ทำธุรกิจร้านค้าไก่ทอดแบรนด์ “เจิ้งซิน ชิคเก้น” จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 20 พ.ย.2562 ทุนจดทะเบียน 13 ล้านบาท ขนาดธุรกิจ S ตั้งอยู่ที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร อยู่ในกลุ่มธุรกิจบริการ มีกรรมการบริษัท 2 คน คือ นางสาวซิหย่า หัน และนายตันชิว หลี่

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นต่างด้าว (บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้น 82.18%) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ คือ บริการด้านอาหารในภัตตาคารร้านอาหาร 

“พาณิชย์” ไล่ตรวจนอมินี  ปีนี้ตั้งเป้า 2.6 หมื่นราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในปี 2567 มีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคล 26,019 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ต 

การตรวจสอบมีเป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ โดยได้ตรวจสอบพบกลุ่มธุรกิจเข้าข่ายต้องเรียกตรวจสอบเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เช่น เส้นทางการเงิน 495 ราย และได้ตรวจเชิงลึก 221 ราย

สำหรับการตรวจสอบนิติบุคคลดังกล่าว พิจารณาจากการถือหุ้นของคนต่างด้าว เป็นธุรกิจที่มีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ มีการกำหนดให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทย ทั้งสิทธิออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล รวมทั้งสิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ และนำแหล่งเงินที่ใช้ประกอบธุรกิจมาพิจารณาประกอบ เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าวโดยมีเงื่อนไขผิดปกติทางการค้า

ทั้งนี้ กรณีการเป็นนอมินีถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน และกรรมการบริษัทมีความผิดด้วย

นางอรมน กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

โดยลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) วันที่ 13 ธ.ค.2566 เพื่อประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล การกำกับดูแลและการป้องปราม การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และการจัดศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์