รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ขยับไทม์ไลน์ 5 ปี เร่งสรุปแก้สัญญา ก.ย.นี้
อีอีซีเผยคืบหน้า “ไฮสปีดสามสนามบิน” ยังอยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญา ปมเพิ่มเงื่อนไขเอกชนวางหลักประกัน คาดเคาะจบเสนอ กพอ.ภายในเดือนก.ย.นี้ หวังดันโครงการตอกเสาเข็มตามเป้าหมายในปี 2567 ด้านการรถไฟฯ พร้อมส่งมอบพื้นที่ ขีดเส้นเอกชนวางแบงก์การันตี 1 แสนล้าน ภายใน 270 วัน
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นโครงการเรือธงของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกที่ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
การดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมีจำนวนลดลง และเป็นเหตุให้เอกชนยื่นขอการเยียวยาผลกระทบ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564
การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนดำเนินการมาเกือบ 3 ปี ในขณะที่เอกชนร่วมลงทุนได้เข้าไปบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ตั้งแต่ปี 2564 ภายหลังที่รัฐบาลตกลงให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) อยู่ขั้นตอนเจรจารายละเอียด เพราะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดสัญญา ส่วนของการวางหลักประกันทางการเงินที่เอกชนต้องดำเนินการ เนื่องจากเอกชนขอให้รัฐเร่งจ่ายเงินสนับสนุนงานโยธา
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนแก้ไขถ้อยคำในสัญญา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ภายในกลางเดือนก.ย.2567 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
ทั้งนี้ หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก กพอ.แล้วจะเสนอรายละเอียดสัญญาที่มีการปรับแก้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบ เมื่อตรวจแล้วเสร็จจึงจะเสนอไปยัง ครม.พิจารณาสัญญาฉบับใหม่ หากเห็นชอบจะเริ่มลงนามในสัญญากับเอกชน โดยเบื้องต้นภาพรวมดำเนินการยังอยู่ในกรอบ โดย สกพอ.คาดว่าจะลงนามกับเอกชนได้ภายในปี 2567
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ควบคู่กันจึงจะได้ประโยชน์
ดังนั้นมีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดดำเนินการให้เดินหน้าไปพร้อมกัน โดยปัจจุบันความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากกองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนองานจ้างก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับสนามบินอู่ตะเภาเป็นที่เรียบร้อย และวันที่ 9 ส.ค.2567 คาดว่าจะเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคที่กองทัพเรือ
สำหรับโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา มีวงเงินโครงการ 15,200 ล้านบาท โดยกองทัพเรือออกประกาศเชิญชวนเมื่อปลายปี 2566 ก่อนเปิดขายซองเอกสาร และพบว่ามีเอกชนซื้อซองรวมกว่า 30 ราย ซึ่งเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 20 พ.ค.67 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นกองทัพเรือได้พิจารณาข้อเสนอ และปัจจุบันมีเอกชนผ่านการคัดเลือกจำนวน 5 ราย เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.เผยว่า ความคืบหน้าของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ภายหลังบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้รับทราบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการดังกล่าว จากสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องมีการเจรจากับบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 ถือเป็นกำหนดสิ้นสุดที่เอกชนได้รับการขยายเวลาจากบีโอไอ ครั้งที่ 3 ดังนั้นหากไม่หาทางออกเพื่อแก้ปัญหาจะส่งผลกระทบต่อโครงการ โดยจากการหารือกับกลุ่มซีพี ได้ข้อสรุปร่วมกัน แบ่งเป็น ประเด็นการรับสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เอกชนขอแบ่งจ่ายค่าบริหารสิทธิเป็น 7 งวด มูลค่ารวม 10,640 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกในปี 2567
ส่วนประเด็นการร่วมลงทุน เนื่องจากเอกชนกู้เงินไม่ได้ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ปัญหาสงคราม และอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีเงื่อนไขร่วมกันในการเร่งให้ภาครัฐจ่ายค่าที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ วงเงิน 119,000 ล้านบาท โดยให้จ่ายก่อนกำหนดในงวดที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) จากเดิมภาครัฐต้องจ่ายหลังเอกชนก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ
ทั้งนี้จากการเจรจาให้ภาครัฐเร่งจ่ายค่าร่วมลงทุน และการแบ่งจ่ายค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ดังนั้นเพื่อไม่ให้รัฐรับความเสี่ยง และการันตีได้ว่าเอกชนรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไปแล้วจะยังคงดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อเนื่อง จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้เอกชนจัดหาหลักประกันทางการเงิน หรือแบงก์การันตี ในกรอบวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท และจะทยอยคืนหลักประกันเมื่อเอกชนส่งมอบงาน
นอกจากนี้ การแก้ไขสัญญาฉบับใหม่ ภาครัฐตัดเงื่อนไขที่ให้เอกชนต้องรับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกไป เนื่องจากเอกชนไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุนได้แล้ว หากตัดเงื่อนไขนี้ออกจะทำให้ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือ NTP และเอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้
สำหรับกรอบดำเนินงาน ร.ฟ.ท.ประเมินเบื้องต้นว่า หากเจรจาถ้อยคำในสัญญาแล้วเสร็จจะมีการเสนอ กพอ.ก่อนเสนอไปยัง ครม.และอัยการสูงสุดในการแก้ไขสัญญา โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ ร.ฟ.ท.สามารถออกหนังสือ NTP เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในปีนี้
รวมทั้งภายหลังลงนามแก้ไขสัญญา เอกชนจะต้องจัดหาหลักประกันทางการเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน ส่วน ร.ฟ.ท. ยืนยันความพร้อมส่งมอบพื้นที่ 100% ตลอดเส้นทาง จึงเตรียมเร่งรัดให้เอกชนเริ่มก่อสร้างส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอื่น อาทิ โครงสร้างร่วมรถไฟไทยจีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
รวมไปถึงเร่งแก้ปัญหาพื้นที่ร่วมในโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนของพื้นที่ใต้อาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภา โดยโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2572 หลังจากที่กำหนดเดิมจะเริ่มก่อสร้างปี 2562 และเปิดให้บริการในปี 2567
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์