สศท.หนุนใช้เทคโนโลยี ผลิต "เครื่องทองลงหิน"

สศท.หนุนใช้เทคโนโลยี ผลิต "เครื่องทองลงหิน"

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย นำเทคโนโลยีผสานภูมิปัญญา พัฒนาการผลิตงานศิลปหัตถกรรมด้วย “เครื่องขัดผิวชิ้นงาน” หนุนการผลิต “เครื่องทองลงหิน” ได้รวดเร็วขึ้น เหตุช่วยลดแรงงานคน และผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น 

นางพรรณพิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์มหาชน) หรือ สศท. เปิดเผยว่า สศท. ได้ทำงานร่วมกับครูสมคิด ด้วงเงิน ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2565 ประเภทหัตถกรรม “เครื่องทองลงหิน” และกลุ่มช่างในศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองลงหิน นำเทคโนโลยี “เครื่องขัดผิวชิ้นงาน” ชนิดถังเขย่า ขนาดบรรจุ 60 ลิตร มีลักษณะการทำงานด้วยแรงเหวี่ยงจากมอเตอร์ พร้อมโช้กด้านล่าง 4 ตัว ซึ่งเป็นตัวรับน้ำหนักในการเขย่าในแต่ละทิศทาง ภายในบรรจุวัสดุสำคัญที่วนกลิ้งอยู่ในถัง ทำหน้าที่ในการเสียดสีและลบคมเศษโลหะของชิ้นงานในการทำเครื่องทองลงหิน และช่วยแก้ปัญหาขั้นตอนการตกแต่งชิ้นงาน ที่หลังจากปั๊มและเทออกจากแม่พิมพ์ มีเศษโลหะส่วนเกินอยู่โดยรอบชิ้นงาน

อีกทั้งเครื่องมือชุดที่ใช้อยู่เดิม มีสภาพเก่าทรุดโทรมและฝุ่นละอองที่เกิดจากการขัด ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของช่างหัตถกรรม ทำให้ขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและแรงงานเป็นจำนวนมากในการขัดเกลี่ยผิวผลิตภัณฑ์ให้เรียบ ส่งผลให้ทางกลุ่มช่าง ไม่สามารถรองรับคำสั่งซื้อในปริมาณมากได้

สศท.หนุนใช้เทคโนโลยี ผลิต \"เครื่องทองลงหิน\"

 “ผลจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้สามารถกำหนดระยะเวลาการขัดชิ้นงานได้ตามความต้องการ โดยขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงาน รวมทั้งยังมีตัวกรองฝุ่นละอองจากการขัด ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบกับสุขภาพของผู้ผลิตชิ้นงาน และในกระบวนการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมเครื่องทองลงหิน พบว่า สามารถช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน เพิ่มปริมาณการผลิต จากเดิมใช้ระยะเวลา 20 ชิ้นต่อชั่วโมง เพิ่มเป็นผลิตได้ 80 ชิ้นต่อชั่วโมง ลดแรงงานคน ตลอดจนช่วยทำให้การขัดชิ้นงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

สำหรับเครื่องทองลงหิน เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ได้ชื่อว่ามีกรรมวิธีการทำที่ยาก เพราะผลิตจากโลหะที่มีความแข็งแรงและมีลักษณะเหนียวเป็นพิเศษ โดยหลักสำคัญของเครื่องทองลงหิน คือ การผสมผสานกันระหว่างแร่ทองแดงและดีบุก มีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรง และความทนทาน รวมถึงมีขั้นตอนการ “ลงหิน” ซึ่งคือกระบวนการการใช้หินขัดผิวชิ้นงานโลหะอย่างประณีตจนชิ้นงานเรียบเป็นมันวาว ด้วยวิธีการที่ใช้หินขัดให้มันเป็นเงาวาวนี้เอง จึงทำให้เรียกว่า “เครื่องทองลงหิน” ส่วนมากนิยมไปใช้ในการผลิตเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ช้อน , ส้อม , ช้อนกาแฟ , ตะเกียบ , ทัพพี รวมถึงของที่ระลึกต่าง ๆ